ซึ่งอาจยิ่งกดดันกำลังซื้อและการบริโภคของเกษตรกร ตลอดจนกระทบต่อธุรกิจที่อาศัยกำลังซื้อจากกลุ่มเกษตรกร ทั้งยังส่งผลต่อหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรให้อยู่ในระดับสูง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2558 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนภาคเกษตรต่อจีดีพีภาคเกษตรของไทย จะยังคงร้อนแรงอยู่ที่ราวร้อยละ 84.7 เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ร้อยละ 77.6 ซึ่งเป็นตัวเลขบนการคาดการณ์ว่าในปี 2558 หนี้เกษตรกรรวมอาจอยู่ที่ราว 1,123,513 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 5.0 (YoY) และจีดีพีภาคเกษตร ณ ราคาตลาดอาจอยู่ที่ราว 1,326,027 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 3.8 (YoY)
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ จนส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในวงกว้างขึ้น ก็อาจยิ่งเป็นแรงฉุดจีดีพีภาคเกษตรของไทยในปีนี้ให้อาจลดลงถึงร้อยละ 4.3 (YoY) ซึ่งอาจทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนภาคเกษตรต่อจีดีพีภาคเกษตรของไทยขยับขึ้นไปอยู่ที่ราวร้อยละ 85.2 (YoY)
ความพยายามของภาครัฐในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนภาคเกษตรของไทยมีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ภาครัฐได้กำหนดให้ภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติ จึงมีหลายมาตรการเร่งด่วนที่สำคัญ ทั้งที่ดำเนินการไปแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเตรียมพิจารณาและช่วยเหลือ ก็อาจช่วยบรรเทาภาระหนี้ของเกษตรกรได้ระดับหนึ่ง อาทิ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐ ทั้งโครงการพักชำระหนี้เกษตรกร ลดภาระหนี้ การสนับสนุนสินเชื่อหรืองบประมาณฟื้นฟูพัฒนาอาชีพเดิมหรือประกอบอาชีพใหม่เพื่อสร้างรายได้ให้เพียงพอ รวมถึงการยกหนี้ให้เกษตรกรจำนวน 4,500 ล้านบาท อีกทั้งคณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบโครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรลูกหนี้ของธ.ก.ส. วงเงินหนี้สินรวม 116,000 ล้านบาท ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังมีแผนชำระหนี้สินให้เกษตรกรกว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ล่าสุด ธ.ก.ส.ยังเตรียมเสนอมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ประสบภัยแล้ง วงเงินกู้รวม 60,000 ล้านบาท
การสร้างงาน สร้างอาชีพให้เกษตรกร ซึ่งอาจต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐในการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างทางเลือก และโอกาสให้กับเกษตรกรในการสร้างรายได้นอกภาคเกษตรมากขึ้น โดยขณะนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการใช้งบของแต่ละจังหวัด เพื่อนำไปสู่การจ้างงานในพื้นที่และอาจจะมีมาตรการเยียวยาอื่นๆ ตามมา
ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรมีความยั่งยืน ทางออกสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนภาคเกษตรของไทยให้ปรับลดลง และทยอยคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง (การทำเกษตรกรรรมมีความเสี่ยง ทั้งด้านผลผลิตและราคาที่ล้วนขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก ดังนั้น จึงควรมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อไม่ให้นำมาซึ่งวงจรแห่งการเป็นหนี้ไม่สิ้นสุด) นั่นคือ ควรเน้นไปที่กระบวนการผลิตเป็นสำคัญ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระดับต้นน้ำ ทั้งการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการลดต้นทุนด้วยการใช้เกษตรอินทรีย์ ตลอดจนการเร่งผลักดันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร หรือให้ความสำคัญกับปลายน้ำด้วย อันจะเป็นการยกระดับราคาสินค้าเกษตร และรายได้ให้กับเกษตรกรไทย อีกทั้งเป็นการลดความเสี่ยงด้านราคาจากภาวะตลาดโลก
นอกจากนี้ เกษตรกรอาจพิจารณาปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน ในช่วงจังหวะเวลาที่ราคาพืชเกษตรบางรายการตกต่ำ หรือในภาวะที่เกิดภัยแล้ง อีกทั้งควรเน้นการปลูกพืชสวนผสม (ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว) เพื่อลดความเสี่ยงด้านราคา ผนวกกับควรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จับกระแสสังคมผู้บริโภค ตลอดจนผสมผสานการปศุสัตว์ควบคู่ ก็จะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้หลายทาง รวมถึงควรต้องตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินที่ดีของครัวเรือน ด้วยการออม ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ท้ายที่สุดจะเป็นการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนภาคเกษตรในภาพรวมของไทยได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะสำเร็จได้อาจต้องอาศัยระยะเวลา และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดสายการผลิต
ในระยะถัดไป ยังคงต้องติดตามมาตรการเยียวยาภาคเกษตรกรรมในชนบทของภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลัง ที่อาจเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติมในกรณีเฉพาะหน้า ท่ามกลางภาวะภัยแล้งที่อาจลากยาวกว่าที่คาดการณ์ไว้ และอาจส่งผลต่อแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการที่อาจขยับขึ้นได้บ้าง สำหรับในส่วนของรายได้ที่ไม่ได้มาจากการทำการเกษตร ก็ควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการฝึกทักษะเพื่อประกอบอาชีพ และส่งเสริมการสร้างอาชีพอื่น เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการหารายได้อื่นเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาความกังวลต่อสถานการณ์ภาคประมง ซึ่งไทยกำลังจะถูกประเมินอีกครั้งจากสหภาพยุโรป ในด้านมาตรการเพื่อป้องกัน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) ในเดือนตุลาคม 2558 ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งเตรียมความพร้อมกับความเสี่ยงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่ติดอยู่ในวงจรราคาที่ควบคุมไม่ได้ดังเช่นทุกวันนี้