ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) พบว่าการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯในวันแรกเมื่อวันที่ 21 ก.ค.58 มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 2,159.75 เมกะวัตต์ แมื่อเวลา 19.21 น. และวันที่ 22 ก.ค. มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 2,256.35 เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 19.22 น. เพิ่มขึ้นจากวันแรกถึง 96.6 เมกะวัตต์ ทำให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มระดับการเฝ้าระวังการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยทาง กฟผ. ได้คาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดระหว่างที่มีการหยุดซ่อมบำรุงอยู่ที่ 2,350 เมกะวัตต์
"สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วน และประชาชนทั่วไป ช่วยกันประหยัดไฟฟ้าในช่วงวันที่ 21-25 กรกฎาคมนี้ ช่วยกัน ปิดไฟ ปรับแอร์ ปลดปลั๊ก และช่วยเลี่ยง-ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา 18.30-22.30 น. โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าของประเทศได้หากสามารถทำได้ ความเสี่ยงของการจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ก็จะหายไป"นายทวารัฐ กล่าว
นายทวารัฐ กล่าวว่า กฟผ. ได้เตรียมกำลังผลิตพึ่งได้สำรองอยู่ที่ 2,833 เมกะวัตต์ โดยหากดูจากการเดินเครื่องในช่วงเวลาหยุดซ่อมบำรุง มีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้ามาจากสายส่งไฟจากภาคกลาง (Tie Line) 600 เมกะวัตต์ , Gas 685 เมกะวัตต์, SPP 25 เมกะวัตต์, ซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย 30 เมกะวัตต์, ดีเซล 410 เมกะวัตต์, น้ำมันเตา 315 เมกะวัตต์ และจากเขื่อนในภาคใต้ (Hydro) 284 เมกะวัตต์ ทั้งนี้หากมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเกินกำหนดการเฝ้าระวัง ได้มีมาตรการรองรับแผน 2 ด้วยการปรับเพิ่มปริมาณการส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง และซื้อไฟฟ้าจาก ประเทศมาเลเซียเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมีผลมาจากการเติบโตทางธุรกิจท่องเที่ยว ได้แก่ สมุย ภูเก็ต หาดใหญ่ ที่รวดเร็ว โดยคาดว่าความต้องการไฟฟ้าจะขยายตัวถึงปีละ 5% และคาดว่าในปี 62 ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ที่ 3,062 เมกะวัตต์ กระทรวงพลังงานจึงต้องวางแผนการผลิตไฟฟ้าที่มีสมดุลและเพียงพอกับความต้องการใช้ รวมทั้งบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง ที่มีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติถึง 40% ซึ่งหากมีการหยุดซ่อมประจำทุกปี เช่นในขณะนี้ที่มีการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซฯ JDA-A18 มีผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ และเดินเครื่องได้เพียงชุดที่ 1 ที่เปลี่ยนมาใช้น้ำมนดีเซลแทน
เมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าขนอม เขื่อนรัชประภา เขื่อนบางลาง และโรงไฟฟ้าอื่นๆ รวมปริมาณกำลังผลิตพึ่งได้ประมาณ 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่เพียงต่อความต้องการ จึงต้องมีการรณรงค์ให้ลดใช้พลังงานในพื้นที่ภาคใต้ทุกปีเช่นกัน
ส่วนความคืบหน้าของการปิดซ่อมบำรุงประจำปีของแหล่ง JDA-A18 ณ วันที่ 23 ก.ค.58 แล้วเสร็จ 60% ซึ่งเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ รวมถึงในการสำรองน้ำมันดีเซลรวม 17.4 ล้านลิตร ยอดใช้ถึงวันนี้อยู่ที่ 3.55 ล้านลิตร และสำรองน้ำมันเตารวม 17.7 ล้านลิตร ยอดใช้ถึงวันนี้ อยู่ที่ 1.37 ล้านลิตร ขณะที่แหล่ง JDA-A18 จะหยุดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 21-25 ก.ค.