กฟผ.ย้ำจำเป็นสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ รองรับดีมานด์ไฟภาคใต้พุ่ง-ต้นทุนต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 23, 2015 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ยืนยันความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับพื้นที่ภาคใต้ ขณะที่ยังมีต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำเพียง 2.70 บาท/หน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศในระยะยาวไม่สูงเกินไป พร้อมยืนยันกฟผ.สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยการเตรียมพัฒนาระบบส่งเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั่วภูมิภาค
"โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีความจำเป็นในการเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลัก เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นไป กำลังผลิตไฟฟ้าที่พึ่งได้ ในพื้นที่ภาคใต้จะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า หากไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการควบคุมมลภาวะ และยังมีต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำเพียง 2.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศในระยะยาวไม่สูงเกินไป"นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว

นายสุนชัย กล่าวอีกว่า กรณีกลุ่มประชาชนบางกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ และมีความวิตกกังวลว่า จะสร้างผลกระทบต่อการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่และอันดามันนั้น กฟผ. พร้อมสร้างความเข้าใจและรับฟังข้อวิตกกังวลต่างๆ และยินดีรับข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานโครงการ เนื่องจากการผลิตพลังงานทุกชนิดย่อมมีทั้งข้อดี และข้อจำกัด แต่เทคโนโลยีทันสมัยและระบบจัดการตามมาตรฐานสากล สามารถควบคุมมลภาวะได้ดีกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหลายเท่าตัว ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ และชุมชน สามารถตรวจสอบได้ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงาน

การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในปี 55 กฟผ. ได้นำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากชุมชนมาศึกษาทุกกลุ่มเพิ่มเติม ทั้งกลุ่มประมง และท่องเที่ยว ประกอบการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เช่น เรื่องการสร้างท่าเรือ การขนส่งถ่านหินที่เป็นผลจากการร่วมปรึกษาหารือกับชุมชน สำหรับเส้นทางการขนส่งถ่านหินจะใช้เส้นทางเดียวกับเรือขนส่งปัจจุบัน รวมทั้งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันเตาซึ่งใช้มาจริงตั้งแต่ปี 47 ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อจุดดำน้ำ แหล่งปะการัง และหญ้าทะเลใด ๆ นอกจากนี้โครงการยังได้ออกแบบติดตั้งระบบดักจับไอปรอทเพิ่มเติม เพื่อลดความวิตกกังวลเรื่องสารโลหะหนัก และกำหนดค่าควบคุมมลภาวะทุกตัว เช่น ออกไซด์ของไนโตรเจน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฝุ่นละอองและโลหะหนัก ดีกว่ามาตรฐานทางกฎหมายถึง 3 เท่าตัว

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการได้คำนึงถึงยุทธศาสตร์ของจังหวัดกระบี่ที่มุ่งสู่การเป็นเมืองสีเขียว (Krabi go green) การออกแบบของโรงไฟฟ้าและมาตรการในการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ กฟผ. ได้กำหนดนโยบายพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัยของจังหวัด ที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศและเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงต่างๆ ของโลก เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นตลอดเวลา แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้การท่องเที่ยวลดลง

ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซนต์นั้น กฟผ. มีแผนระยะสั้นและระยะยาวในการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเตรียมพัฒนาระบบส่งรองรับทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จเพื่อให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์และพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ รวมทั้งการรับซื้อน้ำมันปาล์มมาผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่เพื่อช่วยพยุงราคา ซึ่งหากใช้ราคาประกัน ต้นทุนไฟฟ้าจะประมาณ 5.80 บาท เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่ง คือการพัฒนาพลังงานทดแทนจะไม่สามารถพัฒนาให้ทันกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก จะต้องพัฒนาพร้อม ๆ กันจำนวนมาก โรงไฟฟ้าหลักยังจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาควบคู่กันไป

สำหรับทุกประเทศที่สนับสนุนพลังงานทดแทนก็จะต้องมีโรงไฟฟ้าหลักอย่างเพียงพอเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ประชาชนคงต้องยอมรับด้วยว่า จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเช่นกัน เช่นค่าไฟฟ้าของเยอรมนี หน่วยละ 12 บาท ซึ่งผลมาจากการอุดหนุนพลังงานทดแทน

นายสุนชัย กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่มีความสำคัญต่อระบบไฟฟ้าทั้งในภาพรวมและพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว(PDP 2015) โดยจะนำปัจจัยต่างๆ และข้อวิตกกังวลมาพิจารณาอย่างรอบด้าน พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ มาดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าได้อย่างเกื้อกูลกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ