ทั้งนี้การรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว แบ่งเป็น 2 วัน ได้แก่วันที่ 27 ก.ค. 58 เป็นการรับฟังความคิดเห็นฯ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเทพา และวันที่ 28 ก.ค. 58 เป็นการรับฟังความคิดเห็นฯ เกี่ยวกับท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าเทพา ภายในงานมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมประชาชนผู้สนใจร่วมรับฟังความคิดเห็นกว่า 10,000 คน
ด้านนายพล คงเสือ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 3 เปิดเผยว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.3) โครงการโรงไฟฟ้าเทพา และท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าเทพา จัดขึ้นอย่างถูกต้องตามขั้นตอนการจัดทำรายงาน EHIA และเปิดรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่เวลา 08.30-15.00 น.
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเทพา มีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 1,100 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง ใช้ถ่านหินคุณภาพดีนำเข้าจากต่างประเทศ ประเภทซับบิทูมินัสหรือบิทูมินัสเป็นเชื้อเพลิงโดยใช้เทคโนโลยีการเผาไหม้แบบ Pulverlized-coal Combustion Technology (PC) ระดับ Ultra-supercritical Boiler ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง และมีมาตรการควบคุมการปล่อยมลสารให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าค่ามาตรฐาน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อาทิ เครื่องกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน อุปกรณ์ดักจับไอปรอท เครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต และเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยน้ำทะเล
นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมมลสารให้ดีขึ้น อาทิ การระบายก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sox) จากปล่องโรงไฟฟ้าไม่เกิน 50 ส่วนในล้านส่วน จากค่ามาตรฐาน 80 ส่วนในล้านส่วน ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (Nox) จากปล่องโรงไฟฟ้าไม่เกิน 50 ส่วนในล้านส่วน จากค่ามาตรฐาน 200 ส่วนในล้านส่วน และฝุ่นละอองแขวนลอยรวม (TSP) จากปล่องโรงไฟฟ้าไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐาน 80 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นต้น โดยโรงไฟฟ้าเทพาจะมีการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบบ Real-time ผ่านระบบออนไลน์ ส่งให้กรมควบคุมมลพิษตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด (COT) ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและจัดทำรายงาน EHIA ได้จัดทำร่างรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ และฉบับย่อที่เป็นการสรุปประเด็นสำคัญซึ่งประชาชนสามารถอ่านเข้าใจได้ง่ายเพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไปกว่า 1,500 ฉบับ