ทั้งนี้ คณะกรรมการธนาคารฯ เห็นว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร โดยเฉพาะจากการสำรวจข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย พบว่ามีเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบที่นำเอกสารสิทธิ์ไปจำนองกับเจ้าหนี้นอกระบบ อยู่ในกลุ่มที่มีโอกาสสูญเสียที่ดินทำกิน จำนวน 92,945 ราย มูลหนี้รวม 13,429 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยร่วมดำเนินการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างเร่งด่วน
"การพิจารณาขยายกรอบเวลาโครงการจากเดิมไปอีก 3 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.58 ถึง 30 ก.ย.60 และเห็นชอบขยายวงเงินให้ความช่วยเหลือจากเดิม 100,000 บาทต่อราย เป็น 150,000 บาทต่อราย กรณีจำนองที่ดินเป็นหลักประกัน จะทำให้สงวนที่ดินทางการเกษตรไว้ให้กับเกษตรกรได้จำนวนมาก"นายสมหมายกล่าว
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนปลูกต้นไม้ตามแนวพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง ในที่ดินของตนเอง ที่ดินสาธารณประโยชน์ ส่งเสริมการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าของทรัพย์สินบนแผ่นดินจากมูลค่าของต้นไม้ พัฒนาประชาชนในชุมชนให้พออยู่ พอกิน พอใช้ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยส่งเสริมไปที่ชุมชน ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. 6,800 ชุมชน ปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 ล้านต้นต่อปี เริ่มโครงการตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2558 ถึง 31 มีนาคม 2561
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะออกผลิตภัณฑ์เงินฝาก ระยะเวลาฝากไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยขอรับการสนับสนุนจากส่วนงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ฝากเงินในโครงการ ซึ่งผู้ฝากเงินจะได้รับผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยในอัตราปกติ และ ธ.ก.ส.จะจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ของยอดเงินฝากที่รับฝากได้เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนดำเนินการปลูกต้นไม้ตามโครงการดังกล่าวต่อไป