สศค.เผยเศรษฐกิจไทย Q2 ยังทรงตัวจาก Q1 ได้การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 28, 2015 12:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีสัญญาณทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยภาคบริการจากการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 37.6 ต่อปี

ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ -7.4 ต่อปี และผลผลิตภาคเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องร้อยละ -8.9 ต่อปี สำหรับในด้านอุปสงค์ พบว่า การใช้จ่ายภาคเอกชนและการส่งออกยังคงมีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่ขยายตัวร้อยละ 10.7 ต่อปี เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนในเดือนมิถุนายน 2558 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 มีสัญญาณทรงตัว สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในภาพรวมในเดือนมิถุนายน 2558 ที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ 5.4 ต่อปี และ 4.7 ต่อเดือนตามลำดับ จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ณ ราคาคงที่และจัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 และ 0.4 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี แต่แผ่วลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล

สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนในเดือนมิถุนายน 2558 ปรับตัวดีขึ้นแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ยังคงหดตัว สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์กลับมาขยายตัวทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี และ 15.7 ต่อเดือน ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวทั้งยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และเขตภูมิภาคอย่างไรตาม ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -2.9 ต่อปี และ -11.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล ตามรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ยังคงหดตัว สำหรับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงหดตัวต่อเนื่องทั้งในเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ที่ร้อยละ -35.4 และ -27.3 ต่อปี ตามลำดับส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการเร่งบริโภคไปแล้วในช่วงก่อนหน้า

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน 6 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 63.8 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลกับสถานการณ์การส่งออกและปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบซ้ำเติมราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำจากอุปสงค์ในตลาดโลก ซึ่งทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนมิถุนายน 2558 พบว่า กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูการออกขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อเดือน ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในเดือนมิถุนายน 2558 แม้มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีสัญญาณชะลอตัวในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนมิถุนายน 2558 ขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี และ 0.9 ต่อเดือน ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล สอดคล้องกับภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมิถุนายน 2558 ที่ขยายตัวเช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี และ 10.2 ต่อเดือน ตามลำดับ ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อปี แต่หดตัวที่ร้อยละ -6.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล

สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายน 2558 หดตัวที่ร้อยละ -4.5 ต่อปี แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ 13.8 ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงหดตัวทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ -17.3 ต่อปี -9.2 ต่อไตรมาส ตามลำดับ สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าทุนในเดือนมิถุนายน 2558 กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 13.8 ต่อเดือน ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อไตรมาส และเมื่อหักสินค้าพิเศษเครื่องบินเรือและรถไฟขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี

สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2558 (ไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2558) พบว่า การใช้จ่ายรัฐบาลเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนมิถุนายน 2558 ที่เบิกจ่ายได้จำนวน 201.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.3 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 เบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 569.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.7 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนมิถุนายนมีจำนวนทั้งสิ้น 257.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 33.3 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 รายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) มีจำนวน 653.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี ทั้งนี้ รัฐบาลเกินดุลงบประมาณในเดือนมิถุนายน 2558 จำนวน 146.5 พันล้านบาท และทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 เกินดุล 91.0 พันล้านบาท

ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิถุนายน 2558 หดตัวร้อยละ -7.9 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ามาจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัวลงส่งผลให้กำลังซื้อในตลาดโลกชะลอลง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงชะลอตัวลง และราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าที่หดตัวลงในเดือนมิถุนายน 2558 มาจากการส่งออกสินค้าในหมวดยานพาหนะ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า หมวดเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ หมวดอุตสาหกรรมเกษตร สำหรับตลาดส่งออกหลักที่หดตัวในเดือนมิถุนายน 2558 ได้แก่ ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป อินโดนีเซีย และอาเซียน-5 ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 การส่งออกของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวร้อยละ -5.0 ต่อปี

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยวโดยในเดือนมิถุนายน2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 2.28 ล้านคน ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 53.1 ต่อปี แต่หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลส่วนหนึ่งเนื่องจากเดือนรอมฎอลที่เหลื่อมเดือนเร็วขึ้นจากปีก่อน ส่งผลทำให้กลุ่มตะวันออกกลางมีการเดินทางลดลง อย่างไรก็ดี ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังสามารถขยายตัวได้ดีทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ 37.6 ต่อปี และ 8.8 ต่อไตรมาส ตามลำดับ สะท้อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศ

ในขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนมิถุนายน 2558 หดตัวร้อยละ -6.3 ต่อปี แต่ทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลตามการหดตัวของผลผลิต ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นสำคัญ ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมยังคงหดตัวทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ -8.9 ต่อปี และ -7.8 ต่อไตรมาส ตามลำดับ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2558 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ระดับ 84.0 เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปัญหาภัยแล้ง และความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทำให้ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังในการประกอบการและการขยายการลงทุน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.22 แสนคน ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ -1.1 ต่อปีสำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคงโดยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 160.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.0 เท่าสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ