(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มิ.ย.หดตัว 8.0%,แนวโน้มก.ค.ทรงตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 28, 2015 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพล รังสิตพล รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ในภาพรวมเดือน มิ.ย.58 หดตัวร้อยละ 8.0 อยู่ที่ 155.29 ลดลงจาก 168.90 ในเดือนมิ.ย.57 และ 158.86 ในเดือนพ.ค.58 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลง อาทิ HDD โทรทัศน์ รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ และเบียร์

ขณะที่ 6 เดือนแรกปี 58 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 3.7

ด้านอัตราการใช้กำลังผลิตเดือนมิ.ย.58 อยู่ที่ร้อยละ 57 ลดลงจากร้อยละ 60.59 ของช่วงเดียวกันในปีก่อน และลดลงจากร้อยละ 56.94 ในพ.ค.58

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อตอบสนองในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.4 โดยเพิ่มขึ้นจากการกลั่นน้ำมันเป็นหลัก โดยเพิ่มขึ้นจากการกลั่นน้ำมันเป็นหลัก

ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนมิถุนายน 2558 หดตัวร้อยละ 6.8 ตามการลดลงของการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ อาทิ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ภาพรวมครึ่งปีแรก 2558 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม(ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 3.0 การนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 2.7 สินค้าวัตถุดิบ(ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 1.6 อย่างไรก็ตามภาพรวมครึ่งปีแรก 2558 การนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบ(ไม่รวมทองคำ) ยังคงหดตัว

สำหรับภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์ มีจำนวน 151,698 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.11 การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวน 60,322 คัน ลดลงร้อยละ 18.26 และการส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 76,774 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 26.14 โดยการส่งออกรถกระบะ 1 ตันและ PPV มีจำนวน 37,238 คัน ลดลงร้อยละ 41.71

ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการบางรายอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนรุ่นของรถยนต์ โดยเป็นการลดลงในประเทศแถบอเมริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชีย

ในส่วนของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 17.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 18.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น HDD Monolithic IC และ Other IC ปรับตัวลดลงร้อยละ 21.73 12.03 และ 8.30 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กในตลาดโลกลดลง

ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.40 กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น คอมเพรสเซอร์ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 5.06 7.66 23.40 และ 86.30 ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลงจึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย รวมถึงได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว(ยุโรป และญี่ปุ่น) สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ ยูนิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.65 และ 7.65 ตามลำดับ

ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคเหล็กของไทยเดือนมิถุนายนปี 2558 มีปริมาณ 1.29 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 5.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.48 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 14.29 การส่งออกมีมูลค่า 65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 8.89 สำหรับการนำเข้า 570 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 16.70 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่

ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลงทุกชนิด เช่น เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง เนื่องจากผู้ผลิตรายหนึ่งมีการหยุดเพื่อปรับปรุงเครื่องจักร สำหรับเหล็กแผ่นรีดเย็นลดลง เนื่องจากการบริหารสินค้าคงคลังโดยลดการผลิตและระบายสต็อกแทน แต่ในส่วนของเหล็กแผ่นรีดร้อน มีการผลิตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยเป็นเหตุผลทางด้านจิตวิทยาจากการที่มีข่าวว่า ผู้ผลิตในประเทศขอให้ภาครัฐดำเนินการใช้มาตรการ Surcharge สินค้าเหล็ก ซึ่งมีผลทำให้ผู้นำเข้าชะลอการนำเข้า

สำหรับเหล็กทรงยาว การผลิตลดลงทุกตัว เนื่องจากสภาพตลาดในประเทศที่ยังคงทรงตัวอยู่ นอกจากนี้จากข้อมูลเครื่องชี้ภาวะอสังหาริมทรัพย์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ข้อมูลจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อปล่อยใหม่จากธนาคารพาณิชย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเดือนพฤษภาคม 2558 มีทิศทางที่ลดลง สำหรับในส่วนของการส่งออกในเดือนมิถุนายน ปี 2558 มีทิศทางที่ลดลง เนื่องจากสถานการณ์เหล็กโลกที่ยัง over supply อยู่ จากการที่ประเทศจีนยังคงขยายการผลิตอยู่ ทั้งๆ ที่ความต้องการใช้ในประเทศชะลอตัว ซึ่งถึงแม้ว่าหลายประเทศจะทำหนังสือเพื่อขอให้รัฐบาลจีนควบคุมปริมาณการผลิต แต่ยังไม่มีความคืบหน้าอื่นใด

ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.6 เนื่องจากการผลิตน้ำตาล และปศุสัตว์ (ไก่และสัตว์ปีก) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่การผลิตสินค้าหลักอื่นๆ ยังมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกในภาพรวมลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.0 จากผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศนำเข้ายังคงชะลอตัว.ระดับราคาสินค้าในตลาดโลกยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน โดยเฉพาะผลกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP และภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ขยายตัวไปยังเศรษฐกิจประเทศอื่น ส่วนภาวะการใช้จ่ายในประเทศที่ยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศชะลอตัวลง

ส่วนกรณีที่สหรัฐฯคงอันดับประเทศไทยอยู่ในบัญชี Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์นั้น มองว่าไม่น่าจะทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม เพราะเชื่อว่าภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องคงพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง อีกทั้งเดือนมิ.ย.58 อุตสาหกรรมประมงก็ยังมีอัตราการเติบโตร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ช่วง H1/58 ขยายตัวร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับ H1/57

สำหรับแนวโน้มเดือน ก.ค.58 คาดว่า MPI น่าจะทรงตัวจากเดือนมิ.ย.58 โดยยังต้องติดตามปัจจัยทั้งในประเทศและนอกประเทศ ปัจจัยในประเทศคือ ผลกระทบจากภัยแล้ง อัตราแลกเปลี่ยน เศรษฐกิจโลก

นายณัฐพล กล่าวว่า สศอ.จะมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์ เรื่องการคำนวณดัชนี MPI ใหม่ โดยจะนำเอากลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆที่มีศักยภาพเข้ามาใช้คำนวณดัชนี เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มจักรยานยนต์ Big Bike กลุ่มอุตสาหกรรมโรงสีข้าว กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่น คาดว่าประมาณเดือนก.ย.จะเริ่มเห็นความชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ