พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการพัฒนาท่าเทียบเรือยอร์ชและท่าเทียบเรือ Cruise เพื่อพัฒนาเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยปัจจุบันจากข้อมูลของกรมเจ้าท่าพบว่าท่าเทียบเรือยอร์ชมีทั้งหมด 11 แห่ง อยู่ในอันดามัน 6 แห่ง และอ่าวไทย 5 แห่ง ซึ่งรวมแล้วสามารถรองรับเรือยอร์ชได้ 2 พันลำ แต่ส่วนใหญ่เป็นท่าเรือสามารถรองรับเรือที่กินน้ำลึก 2-5 เมตรเท่านั้น มีเพียงบางท่าเรือที่สามารถรองรับเรือที่กินน้ำลึกได้ถึง 8-10 เมตร จึงถือว่ายังไม่มีศักยภาพเพียงพอจะเป็นศูนย์กลางของท่าเรือยอร์ชในภูมิภาคได้
กรมเจ้าท่า ยังสำรวจด้วยว่าการพัฒนาท่าเรือยอร์ชสามารถทำได้ถึง 33 พื้นที่ในประเทศ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทย 22 แห่ง และฝั่งอันดามัน 11 แห่ง ซึ่งระหว่างนี้กรมเจ้าท่ากำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ 33 แห่ง รวมทั้งความเห็นจากแต่ละภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศว่าจะมีแนวความคิดเพิ่มเติมอย่างไร ตลอดจนการเตรียมปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกต่อเรือยอร์ชที่จะเข้ามาในประเทศไทย หากได้มีการดำเนินการจริง
ส่วนกรณีของเรือ Cruise นั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีท่าเรือยอร์ช 3 แห่งใหญ่ คือ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ซึ่งทั้ง 3 ท่าเรือนี้เป็นท่าเทียบเรือสินค้า ไม่ใช่ท่าเทียบเรือโดยสารสำหรับการท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะ
"ปกติท่าเทียบเรือทั้ง 3 แห่งนั้น ที่ภูเก็ตรองรับเรือที่กินน้ำลึกได้ 8 เมตร แต่ยังไม่ได้มาตรฐาน เพราะเรือ Cruise ส่วนใหญ่กินน้ำลึก 9-12 เมตร ดังนั้นในช่วงนี้กรมธนารักษ์จะต้องประสานกับผู้ที่ได้สัมปทานอยู่ว่าจะทำต่อ หรือหาผู้ประกอบการรายใหม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ หรือจะลงทุนร่วมกันแบบ PPP หรือจะดำเนินการโดยภาครัฐ ในเรื่องนี้กำลังหาข้อสรุป
พร้อมกันนี้ มองว่าไทยมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการขยายท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตเพื่อรองรับกับการเป็นท่าเทียบเรือ Cruise เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเส้นทางเดินเรือท่องเที่ยวของเรือ Cruise ในภูมิภาค คือ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฮ่องกง ซึ่งท่าเรือน้ำลึกที่ภูเก็ตได้มีการผ่าน EIA ไปแล้วตั้งแต่ปี 57 ดังนั้นจะมีการพัฒนาต่อ ขณะเดียวกันยังมีพื้นที่น่าสนใจอีก 2 แห่ง คือ จ.กระบี่ และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งนายกรัฐมนตรี ย้ำว่าใน 2 จุดที่จะพัฒนาใหม่นี้จะต้องมีความชัดเจนภายในสิ้นก.ย.ปีนี้ว่าที่ใดเหมาะสมกว่ากัน
"กรณีท่าเรือ Cruise นั้น ต้องหารายละเอียดว่าท่าเรือน้ำลึกที่ภูเก็ตจะเป็นเจ้าเดิมดำเนินการต่อ หรือเจ้าใหม่ แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับสูงสุด นอกจากนั้นจะต้องมีข้อยุติว่าพื้นที่ที่จะพัฒนาแห่งใหม่ระหว่างกระบี่กับเกาะสมุยที่ไหนเหมาะสมกว่ากัน โดยจะต้องพิจารณาในเรื่องต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของการเป็นท่าเรือ Cruise คือ สิ่งอำนวยความสะดวก ทัศนียภาพของท่าเทียบเรือ อาคารรองรับ การตรวจคนเข้าเมือง ร้านค้า สถานบริการ รวมทั้งสนามบิน ซึ่งทั้งหมดต้องมีข้อยุติภายในปี 58 วันนี้ครม.เมื่อได้ฟังแนวทางก็มีมติเห็นชอบ และกำหนดให้ทำ action plan ต่อไป" พล.ต.สรรเสริญ ระบุ