"สิ่งที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญเพิ่มเติมคือในภาวะราคาน้ำมันต่ำ หรือราคาไม่แพง ความเข้มข้นในการเพิ่มการทำงานด้านอนุรักษ์พลังงาน และพัฒนาด้านพลังงานทดแทน คงต้องเพิ้มดีกรีความเข้มข้นเพิ่มเติม โดยจะมีมาตรการเข้ามากระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานเพิ่มเติม และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทนในหลายๆรูปแบบ"นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าว
นายทวารัฐ กล่าวด้วยว่า ทั้งแผนอนุรักษ์พลังงานและแผนพลังงานทดแทนเป็น 2 ใน 5 แผนย่อยของแผนบูรณาการด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งได้วางกรอบทิศทางพลังงานของประเทศใน 20 ปีข้างหน้าเพื่อมุ่งสู่ความมั่นคงด้านพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งจะมีการกระจายแหล่งเชี้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้มีความเหมาะสม จากปัจจุบันที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก และเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาด้านการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทนสูงเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน
สำหรับแผนบูรณาการด้านพลังงาน ประกอบด้วย 5 แผนย่อย ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 58-79 (PDP 2015) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช. )และคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว ,แผนแม่บทการอนุรักษ์พลังงาน ปี 58-79 (EEP2015) อยู่ในระหว่างเตรียมนำเสนอต่อ กพช.ในการประชุมครั้งต่อไปที่คาดว่าจะเป็นเดือนส.ค.นี้ จะเป็นการยกระดับความเข้มของการใช้พลังงาน (Energy Intensity:EI) เป็นดัชนีชีวัดประสิทธิภาพ โดยเพิ่มเป้าหมายแผนอนุรักษ์พลังงานเป็น EI ปี 79 เทียบกับปี 53 จาก 25% เป็น 30% ซึ่งจะทำให้การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายรวมของประเทศในปี 79 ลดลง
ส่วนอีก 3 แผนเตรียมจะนำเสนอต่อที่ประชุม กพช.ในรอบเดือน ก.ย. ได้แก่ แผนแม่บทพลังงานทดแทน ซึ่งวางเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วน 25% นั้น จะมีการจัดสรรให้เป็นพลังงานทดแทนในรูปแบบของการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากเป็นประมาณ 20% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าโดยรวม ส่วนที่เหลือเป็นแผนด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ และการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในรูปแบบความร้อนและความเย็น
แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติจะรวมถึงการสรรหาก๊าซฯในระยะยาว ซึ่งไทยจะเป็นผู้เล่นสำคัญหลักในการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆรองรับด้วย และแผนแม่บทน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะเน้นเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งทั้งหมด รวมถึงเรื่องนโยบายด้านก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) ,ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) สำหรับรถยนต์, รถยนต์ไฟฟ้า โดยทั้ง 5 แผนดังกล่าวจะสมบูรณ์เมื่อได้รับการอนุมัติจากที่ประชุม กพช.และ ครม.
นายทวารัฐ กล่าวว่า สนพ.มีหน้าที่ขับเคลื่อนทั้ง 5 แผนให้เกิดการนำไปปฏิบัติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ได้ตามแผน ซึ่งการวางกลไกการขับเคลื่อนจะต้องใช้คณะอนุกรรมการหลายภาคส่วนร่วม โดยในส่วนของแผนแม่บทน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น จะมีการปรับโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงในภาคขนส่งให้มีความเหมาะสม โดยที่ผ่านมาได้จัดระเบียบสำหรับราคาดีเซล ให้มีความสมดุลทั้งในส่วนภาษีสรรพสามิตและเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเรียบร้อยแล้ว
โดยอยู่ระหว่างการจัดระเบียบราคา LPG ซึ่งล่าสุดได้มีการปรับสูตรราคาเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับไม่สูงมากนัก ทำให้คาดว่าใน 3-6 เดือนข้างหน้าราคา LPG จะยังอยู่ระดับต่ำ ซึ่งราคาที่จะประกาศในเดือนส.ค.นี้คาดการณ์ว่าราคาจะอ่อนตัวลง จากปัจจุบันอยู่ที่ 23.96 บาท/กิโลกรัม ส่วนราคา NGV อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างราคา คาดว่าราคาจะอ่อนตัวลงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้ทำให้ต้นทุน NGV ที่ปัจจุบันอยู่ระดับ 15 บาท/กิโลกรัมนั้นปรับลงมาอยู่ในระดับที่สามารถปรับโครงสร้างราคาและลอยตัวราคาได้ตามกลไกตลาด
สำหรับทิศทางราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำราว 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลบวกลบ เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันจากอิหร่านจะออกมาสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น รวมถึงปริมาณ shale gas และ shale oil ที่มีมากขึ้น จะยังกดดันให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับที่อ่อนตัว
นายทวารัฐ กล่าวว่า ตามแผนแม่บทน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นจะมีการสนับสนุนการใช้ E20 ต่อเนื่องเพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เอทานอล โดยจะไม่มีการยกเลิกการใช้น้ำมันประเภทใดประเภทหนึ่ง ซึ่งรวมถึงแก๊สโซฮอล์ 91 ด้วย แต่จะปรับให้ราคาแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ในระดับใกล้เคียงกันจากปัจจุบันที่มีส่วนต่าง 82 สตางค์/ลิตร เนื่องจากทั้งสองผลิตภัณฑ์มีต้นทุนใกล้เคียงกันทำให้ระดับราคาควรจะอยู่ใกล้เคียงกันด้วย ซึ่งก็จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งเอง
ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สนพ.กล่าวว่า สนพ.อยู่ระหว่างการหารือเพื่อปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง หลังจากที่โครงสร้างราคาในปัจจุบันมีการใช้มาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งเดิมการศึกษาเคยพบว่าค่าการตลาดที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 1.80 บาท/ลิตร แต่ทาง สนพ.ได้ขอให้ผู้ค้าน้ำมันรับค่าการตลาดที่ระดับ 1.50 บาท/ลิตร เพราะเห็นว่าทางผู้ค้าน้ำมันยังมีรายได้จากธุรกิจเสริมเข้ามาด้วย ซึ่งแผนการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ครั้งนี้ ก็จะทำให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น โดยจะออกประกาศเชิญชวนเพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาให้มาศึกษาโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ต่อไป
ส่วนการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังาน (กบง.)ในวันที่ 3 ส.ค.นี้ จะมีการพิจารณาราคา LPG สำหรับเดือน ส.ค. และจะมีการพิจารณาส่งเสริมการแปลงขยะพลาสติกมาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ดำเนินการอยู่หลายรายซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ย 10-18 บาท/ลิตรแล้วต้องบวกค่าขนส่งเพื่อส่งน้ำมันประเภทนี้ให้เข้าสู่โรงกลั่นเพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่สามารถใช้ในภาคขนส่งต่อไป ขณะที่ต้นทุนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันดิบจะอยู่ที่ราว 12 บาท/ลิตร