ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปีนี้ ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์มียอดขายลดลง 13.6% และตลาดรถยนต์นั่งมียอดขายลดลง 20.1% หากเปรียบเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 57 จะพบว่ายอดขายได้ปรับตัวลง เป็นผลจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงจำกัด รวมถึงความกังวลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทำให้ภาคครัวเรือนและภาคเอกชนระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุน
แนวโน้มตลาดรถยนต์ของไทยทั้งปี 58 มร.ทานาดะ คาดการณ์ว่า ถึงแม้ว่าครึ่งปีแรกตลาดรถยนต์จะลดลงถึง 16.3% แต่ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนจากภาครัฐ ที่ส่งผลในเชิงบวกต่อภาพรวมของการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่จากหลายค่ายรถยนต์ และการส่งเสริมการส่งออก อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบต่อเนื่องในต้นปี ทำให้ตลาดรถยนต์ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ ดังนั้นแนวโน้มของตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้จะมียอดขายรวมทั้งหมดอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 800,000 คัน
มร.ทานาดะ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโตโยต้า ครึ่งปีแรกมียอดขาย 123,125 คัน ลดลง 24.9% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 53,285 คัน ลดลง 30.3% รถเพื่อการพาณิชย์ 69,840 คัน ลดลง 20.2% และรถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ 64,435 คัน ลดลง 22.0% ขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปมีจำนวน 163,403 คัน ลดลง 29% คิดเป็นมูลค่า 76,722 ล้านบาท ตลอดจนการส่งออกชิ้นส่วน มูลค่า 33,570 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าการส่งออกที่ 110,292ล้านบาท
ส่วนในครึ่งปีหลัง โตโยต้าพร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต โดยจะมุ่งเน้นการส่งออก เพื่อรักษายอดขายรวมของบริษัทฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิของประเทศไทยให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้ายังคงอยู่ที่ประมาณ 390,000 คัน คิดเป็นมูลค่า 192,300 ล้านบาท และการส่งออกชิ้นส่วนมูลค่า 66,170 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้นประมาณ 258,470 ล้านบาท พร้อมยกระดับประเทศไทยเป็นสำนักงานใหญ่ แห่งที่ 2 ในภูมิภาคเอเซีย แปซิฟิค