คณะทำงานทั้ง 3 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะทำงานโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทาง กรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. 2. คณะทำงานเส้นทาง กาญจนบุรี-กรุงเทพ, กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ระยะทาง 574 กม. ซึ่งจะดูแนวเส้นทางรถไฟ แม่สอด-มุกดาหารด้วย และ 3. คณะทำงานด้านการเงินและรูปแบบการลงทุนแล้ว
"ขณะนี้จะเน้นเรื่องรถไฟความเร็วสูงกรงเทพ-เชียงใหม่ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีรถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่น โดยได้จัดทำแผนการทำงานในช่วง 5 ปีแล้ว โดยทางญี่ปุ่นได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อทำทวนศึกษาเดิมที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาความเป็นไปและออกแบบเบื้องต้นไว้ เพื่อความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการส่งออกเทคโนโลยีชินคันเซ็นเป็นครั้งแรก"นายอาคม กล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 24-27 ส.ค.58 กระรวงคมนาคมจะหารือร่วมกับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น(MLIT)ของญี่ปุ่นอีกครั้ง เกี่ยวกับมาตรฐานและความปลอดภัย รวมถึงการพัฒนาสถานีและเมืองตลอดเส้นทาง เพื่อทำให้โครงการเกิดประโยชน์สูงสุด และวางแผนการท่องเที่ยวในพื้นที่แหล่งมรดกโลกของประเทศไทย โดยในเดือนส.ค.นี้ทีมสำรวจจะนั่งรถไฟเพื่อดูเส้นทางร่วมกัน
ด้านรูปแบบการลงทุนและการเงินโครงการนั้น ยังเป็นไปตามข้อเสนอเดิมที่ไทยต้องการให้มีการร่วมทุนตั้งแต่เริ่มต้น ก่อสร้าง,วางระบบรางและอาณัติสัญญาณ,การบริหารเดินรถ เพื่อแบ่งเบาภาระรัฐบาลและเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการตั้งแต่เริ่มต้น
ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า แนวเส้นทางที่จะต้องมีการเวนคืนที่ดิน คือ ช่วงพิษณุโลก –เชียงใหม่ เนื่องจากไม่ได้ก่อสร้างไปตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-เชียงใหม่) แต่รถไฟความเร็วสูง จะเป็นแนวเส้นทางใหม่ช่วงจากพิษณุโลก-สุโขทัย-ลำปาง-เชียงใหม่ ซึ่งจะให้คณะทำงานศึกษาสำรวจและเสนอแนะเงื่อนไข กรณีใช้แนวเส้นทางตามผลศึกษาเดิม หรือจะใช้แนวใดเหมาะสม