พาณิชย์ แจงมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มช่วยแก้ปัญหาราคาสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 29, 2015 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงตัวเลขสต็อกน้ำมันปาล์มในช่วงปลายปี 2557 ต่อต้นปี 2558 และเชื่อมโยงมาสู่การนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ จนส่งผลให้ราคาผลปาล์มน้ำมันลดต่ำลงมากว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ซึ่งมีผู้แทนทั้งภาคราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้แทนเกษตรกร ได้เห็นชอบให้ องค์การคลังสินค้า(อคส.) นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบเท่าที่จำเป็น จำนวน 50,000 ตัน และใช้ระยะเวลาที่สั้นสุด โดยให้เร่งรัดนำเข้าภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม และให้ขายให้โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์ม นำมาผลิตและจำหน่ายเป็นน้ำมันพืชปาล์มบรรจุขวดและถุง ได้ 37.27 ล้านลิตร จำหน่ายหมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ในราคาไม่เกินลิตรละ 42 บาท และให้โรงกลั่นฯ ที่ซื้อน้ำมันปาล์มดิบนำเข้าจาก อคส. ต้องซื้อน้ำมันปาล์มดิบในประเทศไม่น้อยกว่าปริมาณนำเข้า ราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 30 บาท ซึ่งโรงกลั่นฯ ได้ซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (29 ม.ค. - 27 ก.พ.58) รวมจำนวน 64,052 ตัน ราคา กก.ละ 30.00 - 37.50 บาท อีกทั้งยังมีมาตรการรองรับผลกระทบให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันได้รับราคาผลปาล์มไม่ต่ำกว่า กก.ละ 5 บาท ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ราคาผลปาล์ม (น้ำมัน 17%) ณ หน้าโรงสกัดฯ อยู่ที่ กก.ละ 5.50 - 6.50 บาท

อย่างไรก็ตาม ราคาผลปาล์มในช่วงเดือนมีนาคม 2558 เป็นต้นไป ปรับตัวลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น แต่ราคายังอยู่ในเกณฑ์สูงโดยในช่วงเดือนมีนาคม 2558 ราคาผลปาล์ม (น้ำมัน 17%) ณ หน้าโรงสกัดฯ ยังอยู่ที่ กก.ละ 4.35 - 5.43 บาท และเดือนเมษายน 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลปาล์มออกสู่ตลาดสูงสุด 1.42 ล้านตัน ราคาผลปาล์ม (น้ำมัน 17%) ณ หน้าโรงสกัดฯ อยู่ที่ กก. ละ 3.90 4.80 บาท ซึ่งสูงกว่าต้นทุนการผลิตที่ กก.ละ 3.38 บาท

สาเหตุที่ต้องนำเข้าน้ำมันปาล์ม 50,000 ตัน เป็นผลมาจากภาวะภัยแล้งในปี 2557 ผลผลิตปาล์มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ลดลงจากที่พยากรณ์ไว้มาก ถึง 200,000 - 400,000 ตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบได้ 34,000 - 68,000 ตัน รวมทั้งภาวะตลาดจริงในช่วงดังกล่าว ส่งสัญญาณว่าจะเกิดการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม กระทรวงพาณิชย์จึงได้มอบหมายผู้บริหารระดับสูงลงพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญ เพื่อประเมินสถานการณ์ผลผลิตปรากฏว่า ผลผลิตลดลงถึงร้อยละ 30 และจากการตรวจสอบสต็อกน้ำมันปาล์มดิบเมื่อวันที่ 9 - 11 มกราคม 2558 จากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงงานไบโอดีเซล และคลังรับฝากทั่งประเทศ 29 จังหวัด 170 โรงงาน โดยมีหลักฐานการตรวจสอบจากถังเก็บน้ำมันปาล์มทุกแห่ง และการตรวจสอบบัญชี รวมทั้งให้ผู้ประกอบการที่เก็บสต็อกน้ำมันปาล์มลงลายมือชื่อยืนยันตัวเลขปริมาณสต็อกเป็นหลักฐาน ปรากฏว่ามีปริมาณสต็อกคงเหลือ จำนวน 113,734 ตัน ต่ำกว่าระดับปกติที่ 200,000 ตันและต่ำกว่าระดับวิกฤติที่ 135,000 ตัน เมื่อเทียบกับตัวเลขสต็อกน้ำมันปาล์มที่ได้รับแจ้งจากผู้ประกอบการตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ณ สิ้นเดือน ธันวาคม 2557 มี 167,591 ตัน และ ผลปาล์มที่รับซื้อได้และใช้ในการผลิตของเดือนมกราคม 2558 ที่ 419,281 ตัน ซึ่งต่ำกว่าที่พยากรณ์ไว้ถึง 195,186 ตัน ส่งผลให้สต็อกน้ำมันปาล์มสิ้นเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ 117,197 ตัน หากไม่มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มในช่วงเดือนมกราคม 2558 จำนวน 9,002 ตัน สต็อกก็จะเหลืออยู่เพียง 108,195 ตัน เท่านั้นซึ่งต่ำกว่าสต็อกที่ได้มาจากตรวจในช่วง 9 - 11 มกราคม 2558

สำหรับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศราคาแนะนำผลปาล์มทะลายและ ผลปาล์มร่วงราคาเดียวกัน อัตราน้ำมัน 17% ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 4.20 บาท ณ หน้าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และจุดรับซื้อในพื้นที่ (ลานเท) โดยให้ลานเทสามารถหักค่าใช้จ่ายและค่าขนส่งตามที่จังหวัดกำหนดในแต่ละพื้นที่ และน้ำมันปาล์มดิบราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 26.20 บาท ณ หน้าคลังรับซื้อในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้ราคาน้ำมันพืชปาล์มถึงมือประชาชนผู้บริโภคไม่เกินขวดลิตรละ 42 บาท เป็นการกำหนดเกณฑ์ราคาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่ต้องได้รับผลตอบแทนพอสมควร จูงใจให้พัฒนาการผลิตผลปาล์มที่มีคุณภาพ และเป็นการพัฒนาระบบการจำหน่ายที่จะส่งผลให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันและราคาผลปาล์มในภาพรวมสูงขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ