นอกจากนี้การขยายตัวของการส่งออกจากตัวเลข 2 หลัก อาจจะเหลือโตได้ไม่เกิน 4% เพราะสาเหตุในเชิงโครงสร้างที่จะทำให้หน้าตาของการส่งออกเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันพื้นที่ทางการคลังก็เหลือน้อยลง จากที่เคยใช้งบประชานิยมได้เต็มที่ก็จะกลายเป็นรัฐบาลที่ต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น รวทั้งทิศทางการลงทุนที่จะเปลี่ยนจากเงินลงทุนจากต่างประเทศ(FDI) กลายเป็นเงินลงทุนไปยังต่างประเทศ(ODI) มากขึ้น
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่บริบทใหม่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น การที่ประชากรไทยเข้าสู่วัยชราอย่างรวดเร็วจนกำลังแรงงานแทบไม่เพิ่ม ค่าจ้างโตเร็วจนแซงหน้าผลิตภาพการผลิต ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ตลอดจนมีปัญหารายอุตสาหกรรม เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สูญเสียส่วนแบ่งให้ตลาดเวียดนาม การส่งออกปิโตรเคมีชะลอตัวเพราะลูกค้ารายใหญ่ เช่น จีนขยายการผลิตจนกลายมาเป็นผู้ส่งออกเอง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เจอภาวะอุปทานล้นตลาด เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อโครงสร้างต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เราควรจะต้องดำเนินการมีอย่างน้อย 3 สิ่งสำคัญ คือ 1.ไม่ควรกระตุ้นอุปสงค์หรือการบริโภคมากจนเกินไป แต่สิ่งที่ควรทำคือการเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต 2.สร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมและเป็นระบบมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่เต็มไปด้วความเสี่ยง จึงควรมีระบบแบ่งเบาภาระของผู้ได้รับผลกระทบ กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัด เพื่อไม่ให้เป็นนโยบาบประชานิยมที่มีแต่การเรียกร้องการเยียวยาแบบไม่มีวันจบ และ 3.การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในกลุ่มลุ่มน้ำโขง(CLMV) ไม่ใช่มุ่งแต่ AEC เพราะลุ่มน้ำโขงเป็นพื้นที่ที่เติบโตเร็ว ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญมากกว่าแค่การสร้างถนนหรือทางรถไฟเชื่อมโยงกัน แต่ต้องมุ่งใหัเกิดการอำนวยความสะดวกในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น
ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา ยังเสนอให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนปรับความคาดหวังต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเสียใหม่ หากยังคอยแต่คิดว่าศักยภาพเศรษฐกิจของไทยต้องโตได้มากกว่า 5% และเมื่อโตได้ต่ำกว่า 5% จะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่จริงอัตราการเติบโตระยะยาวอยู่แค่ 3% นั้น จะต้องเปลี่ยนจากแนวคิดจากการกระตุ้นการบริโภค หรือการใช้นโยบายประชานิยมมาให้ความสำคัญกับการเน้นให้การลงทุนในประเทศกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่า รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานให้มากขึ้น
"ผมอยากจะเตือนสติสักนิด ไม่ใช่แค่ภาครัฐบาล แต่รวมถึงภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือนด้วย เราต้องปรับความคาดหวังของเราใหม่ เพราะถ้าเศรษฐกิจโตแบบที่เคยโต 5% เราก็อาจจะลงทุนแบบหนึ่ง แต่ถ้ามันโตน้อยกว่านี้ เราก็ต้องระวังมากขึ้น...เราควรเลือกวิธีที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย แทนที่จะเน้นการกระตุ้นการบริโภค การใช้นโยบายประชานิยม หรือการให้สินเชื่อต่างๆ แต่ควรจะหันมาเน้นเรื่องการลงทุน ซึ่งจะดีกว่า ไม่ใช่แค่การลงทุนภาครัฐเท่านั้น แต่เป็นการลงทุนภาคเอกชนด้วย เพราะเอกชนถือว่ามีศักยภาพในการลงทุน" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว