ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง.5 ส.ค.เลือกคงดอกเบี้ยรอดูภาพรวมเศรษฐกิจ Q2/58

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 3, 2015 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 ส.ค.58 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีความยากลำบากในการตัดสินใจ เนื่องจากเหตุผลสนับสนุนการ ‘คง’ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีน้ำหนักไม่หนีไปจากทางเลือกในการ ‘ลด’ อัตราดอกเบี้ยมากนัก แต่คาดว่า ธปท.จะเลือก‘คง’อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน เพื่อรอประเมินผลของเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อการส่งออก และแรงส่งของการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐในช่วงโค้งสุดท้ายของปีงบประมาณ 2558 ขณะเดียวกัน ก็ช่วยประคองเสถียรภาพการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไปควบคู่กัน

ทั้งนี้ เงินบาทได้อ่อนค่าลงค่อนข้างมากในระยะที่ผ่านมา โดยนับจากช่วงที่ กนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน มี.ค.58 เงินบาทได้อ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 7% และปัจจุบัน ได้อ่อนค่านำเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งเมื่อประกอบกับพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวในจังหวะที่เร่งขึ้น หลังสถานการณ์ความกังวลต่อประเด็นกรีซได้คลี่คลายลง ก็น่าจะช่วยพยุงให้การส่งออกไทยทยอยปรับดีขึ้นได้บ้างในช่วงเดือนข้างหน้านี้

ขณะที่ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม จะไม่เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงเร็วจนเกินไป และมีผลทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนกว่าเงินสกุลภูมิภาค (ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาความผันผวนของค่าเงินบาทปรับเพิ่มขึ้นจาก 5.5% ในช่วงต้นเดือน ก.ค. 58 เป็น 7.5% ณ วันที่ 3 ส.ค.58 อันเป็นการปรับขึ้นที่สูงกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ) ซึ่งเป็นประเด็นเชิงเสถียรภาพที่ กนง.ให้น้ำหนักเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ภาครัฐคงจะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายอย่างเต็มกำลังในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 2558 ในเม็ดเงินที่ยังเหลืออีกกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่านอกจากจะเป็นไปตามแผนที่แต่ละกระทรวงผูกพันไว้แล้ว ก็ยังน่าจะใช้รองรับการเยียวยาเกษตรกรและผู้ประสบภัยแล้ง ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ การหมุนของเม็ดเงินจากภาครัฐลงสู่ระบบเศรษฐกิจดังกล่าว คงจะช่วยฟื้นฟูการใช้จ่ายและลงทุนของภาคเอกชนได้ส่วนหนึ่ง

ดังนั้น ภายใต้มุมมองดังกล่าว กนง.จึงอาจเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน เพื่อให้อีกสองแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เหลือ เป็นแกนหลักในการผลักดันการใช้จ่ายในประเทศในระยะนี้

ขณะที่ ในวันที่ 17 ส.ค.58 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์จะมีการรายงานข้อมูลจีดีพีประจำไตรมาส 2/58 ซึ่งจะช่วยยืนยันความเหมาะสมของท่าทีเชิงนโยบายในปัจจุบัน และที่ควรจะดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น

ขณะที่ ทางเลือกในการปรับ ‘ลด’ อัตราดอกเบี้ย ในการประชุมรอบนี้ก็มีความเป็นไปได้ เพื่อเป็นมาตรการเสริมทัพในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ท่ามกลางหลายปัญหาที่รุมเร้าชัดเจนขึ้นจากการประชุมครั้งก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง รวมถึงปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันโลกที่ตกต่ำ และมาตรการดูและด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าของไทยที่ล้วนแล้วแต่กดดันความสามารถในการส่งออกของไทยในระยะที่เหลือของปีนี้

ทั้งนี้ การประชุม กนง.ในรอบนี้จะเป็นรอบสุดท้าย ก่อนที่เฟดอาจพิจารณาปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 16-17 ก.ย.ซึ่งถ้าหากเฟดเลือกขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงตามที่ตลาดคาดการณ์ ก็จะทำให้เงินบาทผันผวนแรงขึ้นตามจังหวะการทยอยลดพอร์ตสินทรัพย์สกุลเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ อันจะทำให้การผ่อนคลายนโยบายการเงินของไทยในระยะหลังจากนั้น เผชิญโจทย์เชิงเสถียรภาพที่ซับซ้อนขึ้นอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การทำงานของกลไกการส่งผ่านของการลดอัตราดอกเบี้ยไปสู่อัตราดอกเบี้ยตลาดและสถาบันการเงินในจังหวะนี้อาจไม่ได้เห็นผลในทันที ท่ามกลางต้นทุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อที่ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ทว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำลง คงเล็งผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจที่ดีกว่า ผ่านแรงส่งของเงินบาทที่จะทยอยอ่อนตัวลงอีก ซึ่งจะหนุนกิจกรรมภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่ยังไม่น่ากังวล และความมั่นคงเชิงเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ดังจะเห็นได้จากระดับทุนสำรองต่างประเทศของไทยที่ยังมีปริมาณสูงกว่าภาระผูกพันระยะสั้น (เป็นผลรวมของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น มูลค่าการนำเข้าเฉลี่ย 3 เดือน และการหนุนหลังธนบัตรที่ออกใช้หมุนเวียน) ถึงกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท)

ดังนั้น ด้วยเงื่อนเวลาของจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่กำลังงวดเข้ามาทุกที ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญคลื่นลมแรงหลายด้านพร้อมๆ กันนั้น ทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายของ กนง.ในรอบนี้มีความท้าทายมากกว่าหลายรอบก่อนๆ หน้า กระนั้นก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กนง.สามารถเลือก‘คง’อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ไว้ที่ระดับเดิมได้ เพื่อรอความชัดเจนของภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/58 ตลอดจนการเดินหน้ามาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายอย่างเต็มกำลังในช่วงโค้งสุดท้ายของปีงบประมาณ 2558 และผลของค่าเงินบาทต่อการส่งออก โดยที่อาจต้องเผื่อแนวทางเสริมรองรับไว้ หากสุดท้ายแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ยังไม่ดีขึ้นชัดเจนตามที่คาดหวัง ทั้งนี้ แม้ กนง. จะยังสามารถเลือกปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อยู่ แต่ด้วยภาพที่ เฟดอาจเริ่มจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว ก็อาจลดทอนน้ำหนักและประโยชน์จากการปรับอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาดังกล่าวลงได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ