อย่างไรก็ดี การหดตัวของมูลค่าส่งออกไทยหดตัวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศผู้ส่งออกอื่นในภูมิภาค ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอาเซียน ซึ่งยังเป็นปัจจัยท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป
ทั้งนี้ กกร. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังคงต้องการแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาคส่งออกที่มีสัญญาณอ่อนแอมากกว่าคาด
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร.ยังได้หารือหารือประเด็นปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่ต้องการให้ภาครัฐผลักดันเพื่อเร่งรัดการส่งออก ตามที่ริเริ่มโดย รมว.พาณิชย์ใน 12 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย (1.)กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (2.)กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ (3.)กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร (4.)กลุ่มตลาด CLMV (5.)กลุ่มไลฟ์สไตล์ (6.)กลุ่มสิ่งทอและเครื่องหนัง
(7.)กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (8.)กลุ่มวัสดุและบริการก่อสร้าง (9.)กลุ่มโลจิสติกส์ (10.)กลุ่มสุขภาพและความงาม (11.)กลุ่มดิจิตอลคอนเทนต์และการพิมพ์ (12.)กลุ่มสินค้าฮาลาล
ประเด็นปัญหาอุปสรรคทางการค้าดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับ Ease of Doing ในส่วนของประเทศไทยซึ่งต้องมีการเร่งรัดดำเนินการ เช่น มาตรการยกเว้นภาษี VAT การนำเข้าวัตถุดิบ และ การยกเว้นการจัดเก็บภาษีรายได้ส่งกลับของผู้ประกอบการที่มีการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้ตามบ้านเรือนขนาดไม่เกิน 72,000 บีทียู (ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต)เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย (เนื่องจากสินค้ารายการนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้กับภาครัฐ แต่เป็นภาระด้านรายงานและเอกสารของภาครัฐและภาคเอกชนเกินความจำเป็น)
กกร.เห็นว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เป็นผลต้องมีการดำเนินการโดยหลายกระทรวง ดังนั้น กกร.เสนอให้มีการรื้อฟื้นคณะกรรมการพัฒนาการส่งออกเป็นกลไกหลัก เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ