สาระสำคัญของเรื่อง กก. รายงานว่า ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว พ.ศ. 2558-2560 จะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลและแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 โดยมุ่งหวังให้เป็นวาระแห่งชาติที่ได้รับการผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในระยะ 2-3 ปีถัดจากนี้ไป โดยเน้นกิจกรรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนสู่แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพตั้งแต่ระดับนโยบายซึ่งมี ท.ท.ช. เป็นกลไกหลักในการบูรณาการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวร่วมกับระดับกลุ่มจังหวัด (คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยว) และระดับจังหวัด (คณะกรรมการท่องเที่ยวจังหวัด) และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บังเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
การท่องเที่ยวเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของประเทศ มีการกระจายรายได้สู่ชุมชนเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย
และช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของไทยให้อยู่คู่กับสังคสไทยอย่างยาวนาน โดย (ร่าง) ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2558-2560 และแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2558-2559 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1.วิสัยทัศน์ “วางรากฐานการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน"
2. เป้าหมาย 1.) ในปี 2560 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 2.5 ล้านบาท และเป็นแหล่งกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น 2.) ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนสังคมไทยและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน 3.) สร้างจิตสำนึกให้ทุกภาคส่วนดำเนินกิจกรรมการพัฒนาโดยคำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืนของการพัฒนา
สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนา ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การส่งเสริมตลาดท่องเที่ยว มี 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ (1) กลยุทธ์การยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ หรือ Quality Leisure Destination (2) กลยุทธ์การปรับโครงสร้างตลาดสู่ High Value (3) กลยุทธ์สร้างโอกาสทางการท่องเที่ยวสู่คนไทยทุกกลุ่ม และ (4) กลยุทธ์สร้างสมดุลเชิงเวลาและพื้นที่
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยว มี 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ (1) กลยุทธ์การพัฒนาเชิงพื้นที่ (2) กลยุทธ์การพัฒนารายสาขา (3) กลยุทธ์การพัฒนาการอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว (4) กลยุทธ์การพัฒนาความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว และ (5) กลยุทธ์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การบริหารจัดการการท่องเที่ยว มี 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ (1) กลยุทธ์บูรณาการการทำงานผ่านกลไกการขับเคลื่อนทั้งระบบ (2) กลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและยกระดับผู้ประกอบการ (3) กลยุทธ์การพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยว และ (4) กลยุทธ์การปรับปรุงกฎหมายและกลไกการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง