ร.ฟ.ท.เซ็นสัญญาซื้อโบกี้บรรทุกสินค้า 308 คันจากจีน มูลค่า 722 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 4, 2015 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ลงนามทำสัญญาซื้อขายรถโบกี้บรรทุกสินค้าจำนวน 308 คัน พร้อมเครื่องอะไหล่ กับบริษัท สยามโบกี้ จำกัด ผู้ชนะการประกวดราคาแบบสากลของโครงการจัดซื้อฯ โดยมีนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท., นายเอกราช ไพบูลย์กุลสิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามโบกี้ จำกัด พร้อมด้วย Mr. Li Bo ตัวแทนผู้จัดจำหน่าย และ Mr.Wang Wujian ตัวแทนของโรงงานผู้ผลิตจากประเทศจีน ร่วมลงนามและเป็นสักขีพยาน

โครงการนี้ได้ประกวดราคาแบบสากลไปเมื่อเดือน ก.ค.55 ซึ่งบริษัท สยามโบกี้ จำกัด เป็นผู้ชนะการเสนอราคาด้วยวิธีการยื่นซองแบบสากลในราคารวม 131,446,920.00 หยวน(ประมาณ 722.95 ล้านบาท) โดยรถโบกี้บรรทุกสินค้าดังกล่าวผลิตโดย CSR Erqi Co., Ltd. และจัดจำหน่ายโดยบริษัท China National Machinery Import & Export Corporation (CMC) จากประเทศจีน ซึ่งจะส่งมอบให้ ร.ฟ.ท.ประมาณเดือน พ.ย.59

โดย ร.ฟ.ท.จะนำขบวนรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้าและเครื่องอะไหล่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งจาก ICD ลาดกระบัง และ CY (Container Yard) ต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพในการลากจูงต่อขบวนและรับน้ำหนักบรรทุกได้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการขนส่งแบบเหมาขบวนที่ประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนการขนส่ง เป็นล้อเลื่อนขนาดน้ำหนัก 20 ตัน/เพลา สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่การรถไฟฯ ซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินงานโดยรวมดีขึ้น

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.มีแผนการให้บริการขนส่งคอนเทนเนอร์ระหว่าง ไอซีดี ลาดกระบัง-ท่าเรือแหลมฉบัง โดยใช้รถจักรดีเซลไฟฟ้า(ใหม่) จำนวน 7 คัน และรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า จำนวน 308 คัน ที่จัดหาใหม่ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งและเสริมสร้างสมรรถภาพการขนส่งคอนเทนเนอร์ภายในประเทศสูงอีกเท่าตัว จากปัจจุบันขนส่งได้ 7 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการขนส่งได้เป็น 14 ตันต่อปี และการจัดให้บริการเดินขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์ในประเทศ CY ในภูมิภาค-ท่าเรือแหลมฉบัง ในลักษณะเหมาขบวน โดยใช้รถจักรดีเซลไฟฟ้า (ใหม่) จำนวน 13 คัน และรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า จำนวน 284 คัน (ที่ได้รับโอนจาก ไอซีดี ลาดกระบัง หลังได้รับ 308 คัน) สำหรับส่วนเกินจากความต้องการใช้งานเดินขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์ในประเทศ จะนำไปใช้งานในสินค้ากลุ่มพลังงาน และปูนซิเมนต์ โดยมีเส้นทางขนส่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดเดินจาก CY ต่างๆ ไปยังท่าเรือแหลมฉบังตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ