"ผมอยากย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะสร้างวินัยการออมของคนไทย แม้ว่าการออมเงินกับ กอช.จะเป็นการออมเพื่อผลระยะยาว แต่หากเราไม่สร้างวินัยการออมในวันนี้ เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถพัฒนาให้เทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และที่สำคัญ วินัยการออมถือเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลเล็งเห็นว่าหากคนไทยรักการออมและมีวินัยการออมแล้ว คนไทยภายหลังการเกษียณแล้ว จะไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน" นายวิสุทธิ์ กล่าว
ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้มอบนโยบายให้ กอช.เร่งประสานงานกับหน่วยงานในกระทรวงการคลัง ได้แก่ ธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย (KTB) ให้จัดทำระบบการรับสมาชิกผ่านเครือข่ายของธนาคารเหล่านี้
"ขณะนี้ทั้ง 3 ธนาคารได้รายงานให้ผมทราบแล้วว่าทุกธนาคารมีความพร้อมในการจัดทำระบบเชื่อมต่อเข้ากับระบบของ กอช.ในวันเปิดรับสมาชิกครั้งแรก และคนไทยทุกคนที่มีคุณสมบัติในการสมัครสมาชิก กอช.สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ธนาคารเพื่อสมัครเป็นสมาชิกได้" นายรังสรรค์ กล่าว
ขณะที่นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการ กอช. กล่าวว่า ขณะนี้มีความพร้อมที่จะเปิดรับสมัครสมาชิก โดยจะมีพิธีเปิดรับสมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการประมาณกลางเดือนสิงหาคมที่ทำเนียบรัฐบาล โดย กอช.ได้เรียนเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดรับสมัครสมาชิกคนแรกของ กอช.
กอช.ถือเป็นหน่วยงานล่าสุดที่รัฐบาลได้ผลักดันจนสามารถเปิดรับสมัครสมาชิกได้ ซึ่งภารกิจสำคัญของ กอช. คือการสนับสนุนให้ประชาชนทั่วประเทศที่มีอาชีพอิสระและไม่มีสวัสดิการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการรับเงินกรณีชราภาพ ให้สามารถใช้สวัสดิการรับเงินบำนาญผ่าน กอช. ได้ โดยผู้มีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีและไม่เกิน 60 ปี แต่ปีแรกที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับ ได้อนุญาตให้ผู้สมัครที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีสิทธิออมกับกองทุนได้ 10 ปีนับจากวันที่เป็นสมาชิก ทำให้ในช่วงปีแรกผู้สนใจที่มีอายุเกิน 60 ปี สามารถสมัครสมาชิกได้
เลขาธิการ กอช. กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าระบบการรับสมัครสมาชิกมีความพร้อมสมบูรณ์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมงานเปิดรับสมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการในกลางเดือนสิงหาคมนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากธนาคารของรัฐทั้ง 3 แห่งที่จะเป็นเครือข่ายรับสมัครสมาชิกทั่วประเทศ โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและสมัครได้ที่สำนักงานสาขาของธนาคารทั้ง 3 ธนาคาร โดยใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนเท่านั้น ผู้ที่ออมเร็วและออมในอัตราสูงก็จะได้รับเงินบำนาญมากขึ้นตามสัดส่วน อาทิ ออมเดือนละ 1,000 บาท หากเริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปี เมื่อเกษียณจะได้รับเงินบำนาญพร้อมเบี้ยยังชีพรวม 7,000 บาทต่อเดือน แต่หากเริ่มอายุ 30 ปี จะได้เงินบำนาญ 4,000 บาท ส่วนผู้ที่มีเวลาหรือจำนวนเงินออมน้อย เช่น อายุ 50 ปี ออมเดือนละ 500 บาท เมื่ออายุ 60 ปีจะได้เพียง 421 บาท ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานการครองชีพ โดย กอช.จะใช้จ่ายเป็นเงินดำรงชีพแทนในอัตราเดือนละ 600 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยยังชีพของรัฐบาลเดือนละ 600 บาท รวมรับเดือนละ 1,200 บาท ซึ่งน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระการดำรงชีพในวัยชราได้พอสมควร
"สำหรับ พ.ศ.2558 นี้ เราคาดว่าจะสามารถรับสมัครสมาชิกได้ประมาณ 100,000 คนและสิ้นปี พ.ศ.2559 เพิ่มเป็น 1,500,000 คน โดย กอช. คาดว่าจะรับสมัครสมาชิก กอช. ได้เท่ากับเป้าหมายใหญ่ที่รัฐบาลตั้งไว้จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2561 รวมทั้งสิ้นประมาณ 3,000,000 คน" นายสมพร กล่าว
จากข้อมูลสถิติในปี 2555 แรงงานไทยจำนวน 24.6 ล้านคนเป็นแรงงานนอกระบบ หรือคิดเป็นร้อยละ 62.6 ของกำลังแรงงานทั้งหมดจำนวน 39.3 ล้านคน เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับเงินชดเชยจากการว่างงาน อุบัติเหตุ และเกษียณอายุ เนื่องจากแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม ทำให้ขาดความมั่นคงทางรายได้ ยามชราภาพจากแหล่งใด นอกจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของรัฐบาลเท่านั้น
ขณะเดียวกันประเทศไทยเข้าสู่สังคมประชากรสูงอายุ และมีอัตราเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง อันเนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และอัตราการเกิดลดลง ซึ่งคาดว่าในปี 2563 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 15 หรือ 10.5 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศ โดยขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุไทยกว่าครึ่งหนึ่งราว 2 ล้านคนจากจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดประมาณ 4 ล้านคน ที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ในช่วง 400-3,300 บาทต่อเดือน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ร้อยละ 87) พึ่งพิงรายได้จากบุตรหลาน และมีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 10 ที่พึ่งพิงรายได้จากเบี้ยยังชีพ เงินบำเหน็จบำนาญที่ได้จากการออมและการลงทุนเป็นหลัก นอกจากนี้ผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 31 ไม่มีการเก็บออม และผู้สูงอายุร้อยละ 42 มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต ซึ่งสังคมต้องดูแลและรัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต