"จะผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าวผ่านกลไก กอช.ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการผลักดันแผนสู่การปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่จดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาที่สมดุลยั่งยืนและมีส่วนร่วม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก มีการเติบโตอย่างยั่งยืน และมีการกระจายผลประโยชน์จากการเติบโตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม" นายอุดม กล่าว
ที่ผ่านมาแม้ภาคอุตสาหกรรมไทยจะมีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา โดยปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมหลายด้านยังอยู่ในระดับต่ำ อาทิ การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา ผลิตภาพและประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สะท้อนให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ
นอกจากนี้สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทำให้เงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ ที่เคยเกื้อกูลและสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบที่ประเทศเคยมีได้เปลี่ยนไป เช่น ปัจจัยแรงงานที่เคยเป็นข้อได้เปรียบของไทยเริ่มมีข้อจำกัดจากแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าบางรายการเริ่มประสบปัญหาการแข่งขันและสูญเสียตลาดบางส่วน
สำหรับแนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยในระยะ 6 ปีต่อจากนี้ ตั้งแต่ ปี 2559-2564 จึงเป็นช่วงเวลาที่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งในระดับโลกและระดับประเทศที่ส่งผลต่อการพัฒนา ทั้งในแง่ของโอกาสที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบในเชิงลบ ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงจุดแข็งที่จะใช้ผลักดันการพัฒนาให้ก้าวหน้า ควบคู่กับการแก้ไขจุดอ่อนที่มีอยู่ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน ดังนั้นการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคตจึงต้องมุ่งเน้นที่จะสนับสนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ และแนวโน้มอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ดังนี้
1) กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ที่ต้องเน้นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและเชื่อมโยงกับภาคบริการ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพ
2) กลุ่มอุตสาหกรรมที่ตอบสนองกระแสโลก อาทิ กลุ่มพลังงานทดแทน (แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ) กลุ่มวัสดุสีเขียว (วัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อม พลาสติกชีวภาพ สิ่งทอสีเขียว วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) กลุ่มสุขภาพและอุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร จะมุ่งเน้นการปรับปรุงกฎระเบียบภาครัฐเพื่อกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ ควบคู่กับการพัฒนาปัจจัยสิ่งแวดล้อมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนการวิจัยพัฒนา
3) กลุ่มอุตสาหกรรมรองรับดิจิทัลอิโคโนมี อาทิ กลุ่มหลอมรวมเทคโนโลยี หุ่นยนต์อัจฉริยะ นาโนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มยานพาหนะ ได้แก่ ยานยนต์สะอาด ระบบราง อากาศยาน ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมด้าน R&D ศูนย์ทดสอบ ศูนย์บ่มเพาะต่างๆ รองรับ
4) กลุ่มอุตสาหกรรมฐานความรู้และความคิดสร้างสรรค์ เช่น อุตสาหกรรมแฟชั่น มัลติมีเดีย ฯลฯ ซึ่งต้องมุ่งเน้นการพัฒนาศูนย์ออกแบบ สร้างนักออกแบบ สร้างภาพลักษณ์และตราสินค้าให้เกิดขึ้น
5) กลุ่มอุตสาหกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายภูมิภาค ที่ใช้ประโยชน์ด้านวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เหล็ก ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยทิศทางการพัฒนาจะมุ่งเน้นการให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน และการพัฒนาเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ
ผู้อำนวย สศอ.กล่าวว่า จากทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายข้างต้น นำมาสู่ยุทธศาสต์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ.2559-2564 ใน 3 ประเด็นหลักคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตหรือห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์จะมีการกำหนดกลยุทธ์แนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง