โดยในเบื้องต้นคาดว่าภายในปี 2558 จะมีประชาชนและผู้สูงอายุเข้าเป็นสมาชิกกองทุนอย่างน้อย 6 แสนคน ซึ่งรัฐบาลเตรียมงบประมาณเพื่อจ่ายสมทบ 683 ล้านบาท และในปี 2559 คาดว่าจะมีเข้ามาอีก 1 ล้านคน โดยรัฐบาลเตรียมงบประมาณรองรับ 1.7 พันล้านบาท ซึ่งหากสมาชิกมีมากกว่าที่คาดไว้ก็สามารถของบกลางมาใช้เพื่อรองรับในส่วนนี้ได้ โดยคาดว่าภายใน 5 ปี จะมีสมาชิก กอช.ทั้งสิ้น 3 ล้านคน
สำหรับผู้มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี โดยจะต้องไม่เคยเป็นสมาชิกกองทุนที่ได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้างมาก่อน และไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญด้วย ซึ่งระเบียบในการจ่ายเงินเข้ากองทุนนั้น สมาชิกจะต้องส่งเงินสะสมเข้ากองทุนขั้นต่ำ 50 บาท แต่ต้องไม่เกินปีละ 13,200 บาท
ทั้งนี้ รัฐจะสมทบเงินให้ตามขั้นบันไดอายุ โดยอายุ 15-30 ปี รัฐจะสมทบ 50% ของเงินสะสม แต่ไม่เกินปีละ 600 บาท, อายุ 31-50 ปี รัฐจะสมทบ 80% แต่ไม่เกินปีละ 960 บาท และอายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐจะสมทบ 100% แต่ไม่เกินปีละ 1,200 บาท นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์ตอบแทน หากอายุครบ 60 ปี จะได้รับบำนาญรายเดือนตลอดชีพ ซึ่งสมาชิกยังสามารถรับเบี้ยยังชีพอยู่ด้วย แต่หากเป็นบุคคลทุพพลภาพ จะได้รับเงินก้อนสะสมบวกดอกเบี้ย หากลาออกจากกองทุน จะได้รับเงินก้อนเป็นเงินสะสมบวกผลประโยชน์ของเงินสะสม และหากเสียชีวิตจะได้รับเงินก้อนจากจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีไป
โดยเงินกองทุนดังกล่าว จะนำไปลงทุนหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่า 60% ของเงินกองทุน โดยมีคณะอนุกรรมการการลงทุนเป็นผู้ดูแลนโยบายการลงทุนอย่างเหมาะสม พร้อมกันนี้ยังมีการค้ำประกันผลตอบแทนให้สมาชิกได้รับไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เทียบกับสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าเงินที่ประชาชนสะสมมาจะได้รับเงินคืนอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ประชาชนที่ใช้สิทธิ์ประกันสังคมอยู่สามารถโอนกรรมสิทธิ์การเป็นสมาชิกมาอยู่กับ กอช.ได้ ตามมาตรา 40 ภายใน 6 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีสมาชิกอยู่ประมาณ 1 ล้านคน
อนึ่ง กอช.มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง กอช.เพื่อส่งเสริมการออมของสมาชิกและเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและประโยชน์ของสมาชิกจนสิ้นสภาพสมาชิก