นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. คาดว่า กฟผ.จะใช้เวลาพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติผ่านทางเทคนิคก่อน หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาเรื่องราคา โดยราคากลางที่กำหนดไว้อยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งกฟผ.คาดว่าขั้นตอนคัดเลือกผู้รับเหมาจะใช้เวลาราว 6 เดือน ขณะที่การก่อสร้างจะดำเนินการได้เมื่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ได้รับการอนุมัติ
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีขนาด 800 เมกะวัตต์ ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 58-79 (PDP2015) ซึ่งมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 62 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณา EHIA จากหน่วยงานภาครัฐ ขณะที่โครงการยังถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชนในพื้นที่
"กฟผ. ขอยืนยันว่า การยื่นซองประกวดราคานี้ยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยกฟผ. ได้ระบุในเงื่อนไขการสงวนสิทธิ์การออกเอกสารสนองรับราคา (Letter of Intent - LOI) ไว้อย่างชัดเจนว่า จะออกเอกสารสนองรับราคา เมื่อโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนด รวมถึงได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการจากรัฐบาลครบถ้วนแล้วเท่านั้น"นายรัตนชัย กล่าว
นายรัตนชัย กล่าวว่า ตามแผน PDP2015 โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะต้องเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนธ.ค.62 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า ดังนั้น เพื่อให้โรงไฟฟ้ากระบี่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามแผน กฟผ. จึงต้องเริ่มดำเนินการจัดหาผู้รับเหมาเพื่อออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ และก่อสร้างโรงไฟฟ้า คู่ขนานไปกับขั้นตอนการพิจารณา EHIA ซึ่งกระบวนการการคัดเลือกผู้รับเหมา ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ กฟผ. จัดทำเอกสารประกวดราคา , ผู้รับเหมาซื้อซองประกวดราคาและจัดทำข้อเสนอ และกฟผ. พิจารณาข้อเสนอและคัดเลือกผู้รับเหมา ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 1.5-2 ปี
จากนั้นจึงเป็นช่วงของการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 ปี สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทพลังความร้อน ทั้งนี้ ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจำกัดนี้ กฟผ. จึงดำเนินการคู่ขนานกันไป แต่หากรายงาน EHIA ไม่ผ่านการพิจารณา และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไม่อนุมัติการดำเนินโครงการ กฟผ. จะยกเลิกการประกวดราคาในครั้งนี้