ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวนับตั้งแต่เดือนต.ค.57 จนถึงปัจจุบัน (31 ก.ค. 58) มีรายได้จากการท่องเที่ยวแล้ว 1.18 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23.12 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
จำนวนนักท่องเที่ยวในท่าอากาศยานหลัก 4 แห่ง ในวันที่ 1-31 ก.ค. มีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 80 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศ มีจำนวน 2,160,866 คน มีการขยายตัวร้อยละ 49.37 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะท่าอากาศยานดอนเมืองที่ขยายตัวถึงร้อยละ 81.3 รองลงมาได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ สุวรรณภูมิ และภูเก็ต ที่ขยายตัวร้อยละ 69.6 ร้อยละ 48.2 และร้อยละ 24.4 ตามลำดับ
นางกอบกาญนจน์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวานได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยพ.ศ. 2558-2560 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเร่งให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าอย่างเต็มที่ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สร้างรายได้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน เป็นการพัฒนาทุกมิติ ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ที่นำไปสู่การพัฒนาที่สมดุล ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
ส่วนแผนกลยุทธ์การพัฒนาเชิงพื้นที่ 5 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว จะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ในสัปดาห์หน้า
สำหรับ ASEAN Connect ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่ง ในแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2558-2560 นั้นได้มีการเดินหน้าไปแล้วในหลายส่วน เช่น การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยว ACMECS กลุ่มลุ่มแม่น้ำอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ซึ่งประกอบด้วยประเทศที่มีชายแดนติดกันได้แก่ เมียนมาร์-กัมพูชา-ลาว-ไทย-เวียดนาม เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ ให้เชื่อมโยง และเติบโตยั่งยืน ร่วมกันที่กรุงเนปิดอร์ ประเทศเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 28-29 ก.ค.2558 ที่ผ่านมาว่า เป็นการประชุมรัฐมนตรีการท่องเที่ยวครั้งที่ 2 ซึ่งมีสาระสำคัญด้วยกัน 7 เรื่อง เพื่อวางแผนการทำงาน (Action Plan)ระหว่างปี 2016 ถึง 2018 มีเป้าหมายเดียวกันคือ มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 7 ด้าน เป็นสำคัญ คือ
1.Tourism Market Promotion การส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยว 5 countries 1 destination มีผู้รับผิดชอบคือ ไทย &เวียดนาม
2. Product Linkageความเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว โดย กัมพูชา
3. Information Exchangeการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีเจ้าภาพเมียนมาร์ เป็นผู้ดำเนินการ
4. Tourism Product Developmentsการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยเมียนมาร์ รับผิดชอบ
5.Human Resources Developmentการพัฒนาคุณภาพ ไทย &เวียดนาม จะร่วมกันวางแผน
6. Tourism Safetyให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย เวียดนาม เป็นเจ้าภาพ
7. Private Sectors Involvement การให้เอกชนมีส่วนร่วม โดยลาวและเวียดนาม จะนำไปวางแผนกลยุทธ์
สำหรับประเทศไทยได้ดำเนินงานคืบหน้าไปมากแล้วโดยมีความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่างไทย-เมียนมาร์ ในการจัด FAMTrip นำผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางไปทำตลาดยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของทั้งสองประเทศซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก และเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และประชาคมต่างๆ อาทิ หอการค้าจังหวัด กลุ่มผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม พบว่าเสน่ห์ จ.ศรีสะเกษ มีจุดเด่นมากมายที่ทำให้ ASEAN Connect เห็นภาพชัดเจนขึ้นอย่างครบครันน่าสนใจ เพราะที่นี่เป็นเส้นทางอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยงไปยังอาเซียนได้โดยง่าย คือ เป็นเส้นทางรถยนต์ที่สั้นที่สุดจากชายแดนประเทศไทยไปยังเสียมเรียบ ด้วยระยะทางเพียง135 กม. ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดเส้นทางเอาไว้แล้วคือ "เที่ยว 2 ช่อง 2 แผ่นดิน" เป็นเส้นทางท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศระหว่างไทย-กัมพูชา จาก 2 ด่าน คือ 1)ด่านช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ 2)ด่านช่องจอม จ.สุรินทร์ โดยมีเส้นทางที่น่าสนใจเริ่มจากขึ้นผามอดินแดงชมเขาพระวิหาร นมัสการพระวัดป่ามหาเจดีย์แก้ว ชมบ้านขุนอำไพพาณิชย์ อาคารเก่าแก่โบราณสถานของชาติ จากนั้นขับรถผ่านช่องสะงำ ไปเที่ยวชมนครวัดนครธม มรดกโลก ณ เสียมเรียบ กัมพูชา และเดินทางกลับมาทางช่องจอม จ.สุรินทร์ชมปราสาทต่างๆในจ.สุรินทร์ หรือแวะไปยังบุรีรัมย์ได้อีกด้วย
"การท่องเที่ยวแบบเขตพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวจะเป็นทิศทางอนาคตของการท่องเที่ยวไทย เพราะเราเน้นพูดถึงอารยธรรมทั้งล้านนา อีสานใต้เอกลักษณ์อันดามันและพัฒนาสินค้าท่องเที่ยวตามความสนใจเฉพาะไปพร้อมกัน (นิชมาร์เก็ต) ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (เมดิคอลแอนด์เวลเนส) และท่องเที่ยวเชิงกีฬา หรือการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ทางทะเลและป่าเขามรดกโลก เพื่อนำไปสู่การเพิ่มเรื่องเล่า แชร์ ส่งต่อความประทับเพื่อต่อยอดการทำการตลาดบนโลกออนไลน์ แบบ ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง เพราะในรูปแบบการท่องเที่ยวและเพิ่มการใช้จ่าย พักผ่อนแบบอยู่ยาวมากขึ้นจะช่วยทำให้เกิดการกระจายรายได้และเม็ดเงินลงสู่ประชาชนในพื้นที่ได้"
นางกอบกาญจน์ กล่าว่า จังหวัดศรีสะเกษมีเสน่ห์อีสานใต้คือสามารถเชื่อมโยงสร้างเป็นเส้นทางอารยธรรมตามรอยประวัติศาสตร์ ปราสาทโบราณ บนฐานความเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชาได้เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าใจวิถีไทย วิถีประชาคมอาเซียน ในรูปแบบเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ที่มีหลากหลายในพื้นที่ โดยจากทิศทางความร่วมมือของอาเซียนในมิติของการท่องเที่ยวมีความชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับจากนี้เราจะไม่ได้แข่งขันกันแต่เราจะเชื่อมโยงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวร่วมกันวางรากฐานให้อาเซียนจะเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนนี่คือเป้าหมายสูงสุดของ ASEAN Connectในอนาคต