นอกจากนี้ กนง. ยังมองว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น แตกต่างจากการประชุมครั้งก่อน (วันที่ 10 มิถุนายน) ที่ประเมินว่าการบริโภคภาคเอกชนยังเปราะบาง ในขณะที่การส่งออกยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไปและยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากเศรษฐกิจจีนและเอเชียที่ชะลอตัว
เสถียรภาพทางการเงินมีความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว แนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยภายในไตรมาส 4 ของปีนี้มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อตลาดเงินและตลาดทุนของตลาดเกิดใหม่ ในระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปกว่า 4% ไปอยู่ที่ระดับ 35.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเงินอื่นในภูมิภาคในช่วงเวลาเดียวกัน และเงินทุนจากต่างชาติยังไหลออกจากตลาดการเงินไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยเผชิญกับความเสี่ยงคล้ายกับประเทศเพื่อนบ้านที่เงินสกุลริงกิตของมาเลเซียและรูเปียของอินโดนีเซียได้อ่อนค่าลงอย่างหนักไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ธนาคารกลางของทั้ง 2 ประเทศต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินและทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว
"SCB EIC คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ระดับ 1.50% จนถึงสิ้นปี แม้ว่าความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจชะลอตัวยังมีอยู่มาก แต่ความเสี่ยงด้านเงินทุนไหลออกและเสถียรภาพค่าเงินบาทจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และปัจจัยอื่นๆ สนับสนุนให้ไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงอีก เพราะเงินทุนไหลออกอาจทำให้ต้นทุนทางการเงินของประเทศปรับตัวสูงขึ้นได้ ไม่ว่าจะจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรหรือการลดลงของราคาสินทรัพย์ในตลาดหุ้น" เอกสารเผยแพร่ระบุ