(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค. อยู่ที่ 73.4 ต่ำสุดรอบ 14 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 6, 2015 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.58 อยู่ที่ 73.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 62.6 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 68.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 88.8

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และต่ำสุดในรอบ 14 เดือน โดยมีปัจจัยลบมาจากการที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลด GDP ปี 58 เหลือโต 3% จากเดิมคาดโต 3.7%, ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ, ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, การส่งออกในเดือนมิ.ย. ปรับตัวลดลง 7.87%, ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่า และผู้บริโภค ยังกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูง

ขณะที่ปัจจัยบวก มีเพียงการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า การบริโภคของภาคประชาชนยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนักในช่วงไตรมาส 3 เนื่องจากประชาชนยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งระดับราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว และยางพารายังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการบริโภคจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญในช่วงที่การส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน ซึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่าการบริโภคน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้เด่นชัดขึนในช่วงปลายไตรมาส 4

"จากการสำรวจล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เป็นสัญญาณที่ย้ำว่าผู้บริโภคมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ค่อยดี และมีจุดสังเกตที่สำคัญคือ เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีครึ่งที่ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่มีประชาชนตอบว่าแย่ มากกว่า 50%...แต่ที่เป็นสัญญาณดีคือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว และมีโอกาสจะเงยหัวขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 4 ซึ่งต้องขึ้นกับการสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาลด้วย จากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อทำให้ประชาชนมองว่าในระยะสั้นถึงระยะกลางมาตรการที่จะออกมาได้ผลจริง" นายธนวรรธน์ ระบุ

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐเตรียมจะออกมาใช้นั้นได้ผลก็คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เติบโตได้ 3.5-4% ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้ GDP ทั้งปีโตได้มากกว่า 3% เล็กน้อย แต่ขณะนี้ ม.หอการค้าไทย ยังคงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตอยู่ในช่วง 2.5-2.9%

ส่วนกรณีที่อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 7 เดือนนั้น ถือว่าเป็นการเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในเชิงเทคนิค แต่ยังไม่ใช่สถานการณ์ที่น่ากลัว เพราะเงินฝืดที่น่ากลัวและรุนแรงในระบบเศรษฐกิจคือ เงินฝืดที่จะต้องเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ติดลบ และเงินเฟ้อติดลบอันเนื่องมาจากความต้องการสินค้าไม่มีเลย จนทำให้ผู้ผลิตต้องลดราคาสินค้าเพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้บริโภค

"เงินฝืดที่น่ากลัว คือ อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 6 เดือนและ GDP ติดลบด้วย นี่คือเงินฝืดที่น่ากลัว ซึ่งแบงก์ชาติและกระทรวงพาณิชย์จึงบอกว่ายังไม่เข้านิยามนี้ ดังนั้นเงินฝืดที่น่ากลัวและรุนแรงในระบบเศรษฐกิจคือ เงินฝืดที่จะต้องเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ติดลบ และเงินเฟ้อติดลบ อันเนื่องมาจากความต้องการสินค้าไม่มีเลย และทำให้ผู้ผลิตต้องลดราคาสินค้า นี่คือสัญญาณของเงินฝืดที่น่ากลัวจริงๆ ในเชิงของผู้วางนโยบาย" นายธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศปรับลดเป้าหมายการส่งออกของปีนี้ว่าจะติดลบ 3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.2% นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การคาดการณ์ดังกล่าวใกล้เคียงกับที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจได้เคยประเมินไว้ว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะติดลบราว 3-4% ขณะที่เศรษฐกิจปีนี้จะเติบโตราว 2.5-2.9% ดังนั้นการที่กระทรวงพาณิชย์ยอมปรับลดเป้าหมายการส่งออกมาอยู่ที่ติดลบ 3% ในปีนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าตกใจ เพราะเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้นสิ่งที่พอจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือได้คือภาคการท่องเที่ยว และการค้าชายแดน

"สถานการณ์นี้ต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าไม่ใช่สิ่งที่น่าตกใจ เพราะมันเป็น trend ที่เกิดขึ้น และการยอมรับว่าเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นในไตรมาส 4 และอาจจะไปฟื้นในปีหน้านั้น ย่อมจะชี้ว่าผู้วางนโยบายจำเป็นต้องช่วยหนุนในภาคที่เป็นบวกอยู่ คือหนุนท่องเที่ยว การค้าชายแดน และต้องมีมาตรการของภาครัฐเข้าไปช่วยเสริมในการเบิกจ่ายเงินของรัฐบาลให้ลงไปสู่ภูมิภาค" นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ภาคการส่งออกในปีนี้ยังดูไม่สดใสมากเนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่มีท่าทีในการฟื้นตัว ซึ่งดูได้จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ อันเป็นการสะท้อนว่ากำลังซื้อไม่มี เพราะประเทศที่มีกำลังซื้อมาก เช่น ประเทศในตะวันออกกลางมีรายได้จากการขายน้ำมันลดลง จึงส่งผลให้มีกำลังซื้อน้อยลงตาม และทำให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียรวมทั้งไทยมีการส่งออกที่ติดลบเฉลี่ย 5-10% นอกจากนี้การที่เงินบาทอ่อนค่าไม่ได้ช่วยให้ภาคการส่งออกของไทยโดดเด่นขึ้น เพราะเงินบาทของไทยอ่อนค่าในระดับใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง โดยในช่วง 2 เดือนนี้เงินบาทอ่อนค่าไป 3-4%

"เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้น ส่งออกจึงไม่กระเตื้องขึ้นได้จากค่าเงินบาทที่อ่อน บาทอ่อนมีส่วนช่วยกระตุกเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แต่ไม่มีน้ำหนักมากพอจะไปช่วยดันการส่งออก การที่บาทอ่อน 3-4% น่าจะกระตุกเศรษฐกิจให้ขึ้นมา 0.1%" นายธนวรรธน์ ระบุ

พร้อมกันนี้คาดว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า จากความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นในช่วงสิ้นปีเงินบาทน่าจะเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 35.00-35.50 บาท/ดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ