ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสินค้าที่จะสามารถขอรับสิทธิดังกล่าว จะต้องตรวจสอบว่าสินค้าที่ส่งออกอยู่ในบัญชีรายการสินค้าลดภาษีของประเทศสมาชิกอาเซียนผู้นำเข้าหรือไม่ และสินค้าที่ส่งออกต้องมีกระบวนการผลิตและคุณสมบัติถูกต้องตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดของอาเซียน
นางดวงพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2557 การใช้สิทธิประโยชน์จาก ฟอร์ม ดี ของไทยในการส่งออกไปในอาเซียน พบว่ามีมูลค่าการส่งออก 19,857.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.46 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 18,309.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสัดส่วนการใช้สิทธิฯ คิดเป็นร้อยละ 60.09 ของมูลค่าการส่งออกไปยังอาเซียนในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ
สำหรับประเทศที่ไทยใช้สิทธิในการส่งออกภายใต้ AFTA สูง 3 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย (สัดส่วนร้อยละ 32.62) เวียดนาม (สัดส่วนร้อยละ 22.04) และมาเลเซีย (สัดส่วนร้อยละ 20.40) อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะการส่งออกโดยการขอใช้ ฟอร์ม ดี ไปยังเวียดนามในปี 2557 มีมูลค่า 4,376.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.96 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่ใช้สิทธิฯ สูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศที่ประกอบด้วยพัดลม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ฝรั่ง มะม่วง และมังคุด สดหรือแห้ง ยานยนต์สำหรับขนส่งของ ผลไม้แห้งอื่นๆ กรดเทเรฟทาลิก เครื่องซักผ้าอัตโนมัติ ตู้เย็น พลาสติก และชุดอุปกรณ์ประกอบภายในรถยนต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2559 กรมฯ มีแผนที่จะจัดสัมมนา/อบรม เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ส่งออกในทั่วทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกไทยมีความรู้เกี่ยวกับการขอใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว เนื่องจากในปี 2559 อาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่ AEC อัตราภาษีศุลกากรนำเข้าของประเทศสมาชิกอาเซียนในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) จะลดต่ำลงจนเป็น ศูนย์ เกือบทุกรายการ(ยกเว้นรายการสินค้าอ่อนไหวและรายการที่ไม่ได้อยู่ในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ) ซึ่งผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกไทยควรจะศึกษาเพื่อขอใช้สิทธิฯ ได้อย่างเต็มที่ต่อไป