“ถ้าตัวเลข GDP ไตรมาส 2/58 ของสภาพัฒน์ออกมาโต 2.5-3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ไม่เซอร์ไพรส์และเป็นไปตามการคาดการณ์ของเรา แต่ผมอยากให้ดูไตรมาสต่อไตรมาสมากกว่า ถ้าออกมาติดลบอันนี้น่าเป็นห่วง เพราะเศรษฐกิจไทยเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น"นายอมรเทพ กล่าว
สำหรับการส่งออกในปีนี้คาดว่าจะติดลบราว 4% หลัง 6 เดือนแรกของปีนี้ออกมาติดลบ 5% แต่คาดว่าครึ่งปีหลังจะติดลบน้อยลงมาที่ 3% โดยความกังวลเกิดจากตลาดหลักชะลอตัวหลังจากเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดจีนและยุโรป แต่มีปัจจัยหนุนจากตลาดกลุ่ม CLMV ที่มีสัดส่วนส่งออกเพิ่มมากขึ้น หลังจากประเทศในกลุ่มดังกล่าวประชากรมีรายได้ต่อหัวมากขึ้น และมีกลุ่มคนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า โดย 7 เดือนที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมา 6% โดยเฉพาะเดือน ก.ค.58 อ่อนค่าลงมากที่สุด 3.5% มองว่าแนวโน้มจะอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในช่วงเดือน ก.ย.นี้ โดยได้ปรับประมาณการณ์ค่าเงินบาทใหม่สิ้นปีนี้อยู่ที่ 36 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 34 บาท/ดอลลาร์
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าปีนี้จะคงที่ระดับ 1.50% มองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยปัจจัยที่สำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ คือ การลงทุนของภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ซึ่งภาครัฐต้องมีการเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาก่อน
“ตอนนี้เราใช้นโยบายการเงินไปเยอะแล้ว อยากให้เก็บกระสุนไว้ก่อน เราอยากเห็นนโยบายการคลังที่จะออกมาช่วยพยุงเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากการลงทุนภาครัฐก่อน แม้ว่าจะมีสัดส่วนเพียง 4-5% ของจีดีพี แต่ก็มองว่าจะเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนตาม เพราะตอนนี้ไทยเพิ่งการส่งออกไม่ได้แล้ว หลังติดลบ 3 ปีติดต่อกัน"นายอมรเทพ กล่าว