ปลัดกระทรวงการคลัง เชื่อว่าประเทศไทยยังไม่มีความเสี่ยงทางด้านการคลัง เพราะเงินคงคลังยังอยู่ในระดับสูง และหนี้สาธารณะยังไม่เกินเพดานที่ 60% ของจีดีพี ในขณะที่หลายประเทศมีหนี้สาธารณะสูงเกือบ 100% ของจีดีพี ซึ่งการที่รัฐบาลใช้นโยบายที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ร่วมกับภาครัฐในรูปแบบของ PPP ก็จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ไม่ทำให้รัฐบาลต้องมีภาระในการกู้เงินมากขึ้น และคงไม่มีความจำเป็นต้องขยายเพดานขึ้นไปจากระดับ 60%
"ถ้ากฎหมาย PPP มีการปรับให้ง่ายขึ้นในการที่จะให้ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน หรืออาจเป็นรูปแบบของการให้สัมปทาน เราก็ไม่จำเป็นต้องไปเพิ่มเพดานการกู้เงินเพื่อมาสร้างหนี้มากขึ้นอย่างที่เรากังวลกัน" นายรังสรรค์กล่าว
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าในปี 2564 หนี้สาธารณะของไทยมีโอกาสจะขึ้นไปใกล้เคียงกับระดับ 60% ดังนั้นในระหว่างนี้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะโตเฉลี่ยที่ 3% ก็มีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านการจัดหารายได้ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องทบทวนมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกไปว่ามีผลในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ ซึ่งหากเห็นว่ามาตรการในส่วนใดไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ก็ต้องปรับปรุงให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
นายรังสรรค์ กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าของ ร่าง พ.ร.บ.การโอนงบประมาณรายจ่ายว่า ล่าสุดได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และกำลังนำเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นานนัก และน่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 59
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การโอนงบประมาณรายจ่ายนี้ จะเป็นการโอนงบประมาณของหน่วยราชการต่างๆ ที่ยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินโครงการ หรือยังไม่มีความพร้อมในการจัดซื้อจัดจ้างได้ตามที่ตั้งเป้าหมายมาใส่ไว้ในงบกลาง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถนำเงินงบประมาณจากส่วนกลางที่รับโอนมานี้ไปใช้ในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือโครงการที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าก่อน