จากการประเมินพบว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมีความเข้มแข็งมาก โดยดูจากอัตราส่วนของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่ 16.8% ซึ่งสูงกว่าระดับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ที่ 8.5% กว่าเท่าตัว อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่ามีโอกาสน้อยมากที่ประเทศไทยจะเกิดปัญหาวิกฤตทางการเงินเช่นในอดีต
อย่างไรก็ตาม ระบบการคุ้มครองเงินฝากนั้นเป็นไปตามหลักสากลซึ่งช่วยสร้างสมดุลในระบบการเงินของประเทศ เพื่อช่วยลดผลกระทบของผู้ฝากเงินรายย่อยในกรณีที่สถาบันการเงินประสบปัญหา
ในด้านการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน นับแต่วันที่ พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551 ได้มีการทยอยปรับวงเงินคุ้มครองจากคุ้มครองเต็มจำนวนเป็น 100 ล้านบาท และ 50 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการขยายระยะเวลาความคุ้มครองเงินฝากจำนวน 50 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2558 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ฝากเงิน
ในช่วงที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทยได้ร่วมกับสถาบันคุ้มครองเงินฝากประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งให้ช่วยทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์กับผู้ฝากเงินให้เข้าใจถึงการปรับวงเงินคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งได้ให้ความร่วมมือในการเสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องการคุ้มครองเงินฝากแก่ผู้ฝากเงิน และประชาชนทั่วไปมาโดยตลอด ทำให้ผู้ฝากเงินมีเวลาในการปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว
ดังนั้นการปรับวงเงินฝากเป็น 25 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ในวันที่ 11 สิงหาคม 2558 จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการฝากเงินและบัญชีของผู้ฝากเงิน โดยเฉพาะผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ในระบบของไทย กว่า 67.2 ล้านราย เป็นผู้ฝากเงินระดับไม่เกิน 25 ล้านบาท คิดเป็น 99.94% ของผู้ฝากเงินทั้งระบบ ในส่วนของกลุ่มผู้ฝากเงินที่มีวงเงินฝากมากกว่า 25 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งก็มีมาตรการดูแลกลุ่มลูกค้าที่ฝากเงินรายใหญ่เป็นอย่างดี สมาคมธนาคารไทยจึงเชื่อมั่นว่าภาพรวมธนาคารพาณิชย์ไทยพร้อมรับการปรับวงเงินคุ้มครองเงินฝาก