"เป็นแนวคิดในความร่วมมือระหว่างสองกระทรวงในครั้งนี้ เพื่อให้การส่งเสริมการเกษตรขยายผลไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และนำทรัพยากรในพื้นที่มาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวที่จะกระจายปริมาณนักท่องเที่ยวจากแหล่งท่องเที่ยวหลัก ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้โดยตรงจากการจำหน่ายสินค้า ผลผลิตสด ผลิตภัณฑ์แปรรูป หัตถกรรม และศิลปประดิษฐ์ เป็นต้น"
ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างช่องทางตลาดผลิตภัณฑ์ของชุมชน รวมทั้งการให้บริการนักท่องเที่ยวในลักษณะของที่พัก อาหาร เครื่องดื่ม และการให้บริการต่างๆ สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนเกษตรได้เป็นอย่างดี จากระยะแรกเริ่มการดำเนินการใน 29 จังหวัด จำนวน 33 จุดท่องเที่ยว ปัจจุบันมีการขยายผลการดำเนินงานท่องเที่ยวเชิงเกษตรทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 700 แหล่ง ส่งผลให้ปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้จากนอกภาคเกษตรประมาณ 40%
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ความร่วมมือกันในการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตรในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้การท่องเที่ยววิถีเกษตรเกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพิ่มศักยภาพให้กับแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตรรวมถึงเกษตรกรให้มีความพร้อมในการบริหารจัดการด้านท่องเที่ยว และสร้างกระแสการรับรู้ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการท่องเที่ยววิถีเกษตร ดำเนินการในพื้นที่ 12 เมืองต้องห้าม…พลาด และทุกภูมิภาคทั่วประเทศ แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ในปี 2558 เริ่มดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย 1.แหล่งท่องเที่ยวคลองมหาสวัสดิ์ จ. นครปฐม 2.แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร อ.เขาค้อ เพชรบูรณ์ 3. แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านโคกเมือง จ.บุรีรัมย์ และ 4. แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ส่วนระยะกลาง ในปี 255๙ จะดำเนินการเพิ่มเติมในพื้นที่ 9 จังหวัด ประกอบด้วย น่าน ลำปาง เลย จันทบุรี ตราด สมุทรสงคราม ราชบุรี ชุมพร ตรัง และระยะยาว ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป ดำเนินการครอบคลุมทุกภูมิทั่วประเทศ
“สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งรัดดำเนินการ คือ การสร้างและพัฒนาเครือข่ายแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตรให้ได้การรับรองมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และที่สำคัญ คือ สนับสนุนการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร ร้านอาหาร ในแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตร ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานที่สำคัญจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ GAP Q Q-Restaurant ผ่านรูปแบบการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตร 5 ด้านหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มสถานที่ท่องเที่ยว ให้สมารถท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถรองรับกรุ๊ปทัวร์ได้ 2.โฮมสเตย์ เป็นแหล่งที่พักชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้เห็นวิถีชีวิตท้องถิ่น 3.การท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ 4.แหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมร่วมได้ และ 5. สินค้าเกษตร/ผลผลิตทางการเกษตรแปรรูป ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพื่อเชื่อมโยงสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรกับตลาด ร้านอาหาร หรือโรงแรม เป็นแหล่งผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตร ที่มีคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ที่มีชื่อเสียง เป็นเอกลักษณ์ เฉพาะถิ่น เป็นแหล่งซื้อของฝาก ที่สามารถจะเป็นแหล่งสินค้าให้กับตลาดเกษตรกร หรือ ร้านอาหารได้” นายปีติพงศ์ กล่าว