"พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2(ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม) พิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์จากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปยังจังหวัดสุโขทัย และการขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลดังกล่าวจากอัตรา 18,000 ตันอ้อยต่อวัน เป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงงานให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยเร็วต่อไป ส่วนคำขออื่นจากนี้ให้ยก" คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุ
โดยศาลเห็นว่า ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่จะไม่นำเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์จากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปยังจังหวัดสุโขทัย และการขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแสวดล้อม การกระทำของผู้ถูกฟ้องที่ 1 จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุม ครม.ที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติ
แต่ในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาคดีได้มีการยกเลิกมติ ครม.ที่จะให้ ครม.เป็นผู้พิจารณาอนุมัติเรื่องดังกล่าวอีกต่อไป จึงมีผลให้ผู้ถูกฟ้องที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจว่าจะอนุญาตหรือไม่ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ประกอบกับมีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการอนุญาตเกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 พ.ศ.2549 ตลอดจนประกาศของ รมว.อุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้อง
คดีนี้บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ได้นำเรื่องมายื่นฟ้อง รมว.อุตสาหกรรม, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด(ชื่อเดิมคือบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด) ร่วมกันเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ต่อศาลปกครอง กรณีที่ผู้ฟ้องคดีขอย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ของตนเองไปตั้งที่ ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และขอขยายกำลังการผลิตโรงงานดังกล่าว แต่กลับอนุญาตให้บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด ย้ายโรงงานน้ำตาลวังกะพี้เข้ามาในเขตชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของผู้ฟ้องคดี และอนุญาตให้ขยายกำลังการผลิตได้ ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด ให้เข้ามาแย่งชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีเดือดร้อนเสียหาย โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่1 เสนอเรื่องขอย้ายโรงงานน้ำตาลและขยายกำลังการผลิตให้ ครม.พิจารณา และเพิกถอนการอนุญาตของบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด