การเปิดประมูลข้าวครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ส่งออกและผู้ประกอบการโรงสี ทั้งรายเล็กและรายใหญ่แสดงความจำนงเข้าร่วมการประมูลจำนวนมาก โดยเมื่อวานนี้(10 ส.ค.) มีผู้ยื่นซองเอกสารคุณสมบัติ รวม 58 ราย และในวันนี้ได้ประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นทั้งสิ้น 58 ราย แต่ปรากฎว่ามีผู้มายื่นซองเสนอราคา จำนวน 47 ราย ใน 50 คลัง โดยมีผู้เสนอราคาที่ผ่านเกณฑ์มูลค่าขั้นต่ำ(Floor Value : FV) จำนวน 19 ราย ใน 50 คลัง ปริมาณ 426,977 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 64 ของปริมาณที่เปิดประมูล) มูลค่าประมาณ 6,293 ล้านบาท
ทั้งนี้ ชนิดข้าวที่ขายได้มากที่สุด 5 อันดับแรก เป็นข้าวขาว 5% ปริมาณ 186,924 ตัน คิดเป็นร้อยละ 28 รองลงมา ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ปริมาณ 130,277 ตัน คิดเป็นร้อยละ 19, ปลายข้าวขาวเอวันเลิศ ปริมาณ 86,726 ตัน คิดเป็นร้อยละ 12 และปลายข้าวหอมมะลิ ปริมาณ 15,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 2.25 ของปริมาณที่เปิดประมูล โดยในครั้งนี้มีคลังที่ไม่มีผู้เสนอราคา รวม 32 คลัง และข้าวที่ไม่มีผู้เสนอราคาซื้อ ได้แก่ ข้าวขาว 10% และข้าวท่อนหอมมะลิ
กรมการค้าต่างประเทศจะรวบรวมผลการเสนอซื้อที่มีมูลค่าสูงสุดในแต่ละคลัง นำเสนอต่อประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) เพื่อพิจารณาผลการเสนอซื้อ ก่อนแจ้งผลการประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐอย่างเป็นทางการให้ผู้ชนะการประมูลทราบต่อไป
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวด้วยว่า กรมฯ เตรียมจัดทำข้อมูลการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ซึ่งเป็นข้าวเกรดซี (ข้าวไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน) และข้าวเสียเป็นฝุ่นผงรวม 5.8 ล้านตัน ให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาในวันที่ 28 ส.ค.นี้ โดยจะเสนอให้พิจารณาถึงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับงบประมาณค่าใช้จ่าย ระยะเวลา ความคุ้มค่าในการระบายข้าว เพราะหลายฝ่าย เช่น ผู้ส่งออก หน่วยงานต่างๆ ตั้งข้อสังเกตว่าข้าวเกรดซีไม่ได้เสียทั้งหมดแต่มีข้าวดีปนอยู่ด้วย จึงต้องการซื้อไปทำอาหารสัตว์ ซึ่งอาจได้ราคาดีกว่าจะขายทั้งหมด 5.8 ล้านตันเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเอทานอล และชีวมวล
"นบข.มีมติให้ขายข้าว 5.8 ล้านตันเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เพราะเป็นข้าวที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงไม่ต้องการให้เข้าสู่การบริโภค แต่เมื่อมีการตั้งข้อสังเกตมากกว่า ข้าวเกรดซี ไม่ได้เสียทั้งหมด มีข้าวดีรวมอยู่ด้วย เราก็ต้องเอานักวิชาการ เช่น TDRI สวทช.ไปเก็บตัวอย่างข้าวเกรดซีจากทั่วประเทศ มาตรวจสอบดูว่าหากจะขายเป็นอาหารสัตว์ได้หรือไม่ มีเชื้อราหรือไม่ ขั้นตอนการตรวจสอบอย่างไร ใช้เวลาเท่าไร งบประมาณเท่าไร คุ้มค้าหรือไม่ หรือจะยังคงขายสู่ภาคอุตสาหกรรมเหมือนเดิม ซึ่งจะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอให้ นบข.พิจารณาวันที่ 28 ส.ค.นี้" นางดวงพร กล่าว