ดังนั้น ปัจจัยเรื่องค่าเงินเพียงอย่างเดียวอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวจีน
ขณะที่สถานการณ์การค้าระหว่างไทย-จีนนั้น มองว่าการหดตัวของการส่งออกสินค้าไทยไปจีน น่าจะมีสาเหตุสำคัญมาจากเรื่องราคาสินค้าส่งออกในหลายๆ หมวดที่ไทยส่งออกไปจีนได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก รวมถึงสต็อกสินค้าของจีนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจีนยังคงชะลอการนำเข้าจากไทย มากกว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน/เงินบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ของสกุลเงินในเอเชีย และเงินบาท ในช่วงหลายเดือนหลังจากนี้ น่าจะเป็นช่วงที่มีปัจจัยทับซ้อนกันหลายเรื่อง โดยในช่วง 1 เดือนจากนี้ แรงกดดันที่อาจจะทำให้สกุลเงินเอเชียยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าได้ต่อเนื่องนั้น จะเป็นเรื่องของกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งอาจเกิดขึ้นในรอบการประชุม FOMC วันที่ 16-17 ก.ย. 2558 ดังนั้น คงจะต้องติดตามตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ เดือนส.ค. 2558 ที่จะประกาศออกมาในช่วงต้นเดือนก.ย.นี้ อย่างใกล้ชิด เพราะข้อมูลดังกล่าวน่าจะเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สะท้อนว่า จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนของเงินดอลลาร์ฯ จะมีความต่อเนื่องมากน้อยเพียงใดในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า ความผันผวนของสกุลเงินเอเชีย ก็อาจเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพราะนอกจากจะมีตัวแปรเรื่องดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แล้ว ยังมีเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ยังฟื้นตัวล่าช้า และมีฐานะดุลต่างประเทศและระดับทุนสำรองฯ ที่อ่อนแอ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน