ทั้งนี้จะต้องพิจารณาในส่วนของรถขนส่งที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก ซึ่งรถโดยสารที่ใช้น้ำมันดีเซลส่วนใหญ่นั้นเป็นของ บขส.(บริษัท ขนส่ง จำกัด) รวมถึงรถร่วมเอกชนฯ ซึ่งขณะนี้กรมการขนส่งทางบกได้ปัจจัยต้นทุนแล้วและได้นำมาเทียบตารางราคาเชื้อเพลิงกับราคาโดยสารที่สามารถปรับลดได้ โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าประชุมคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางเพื่อหาข้อสรุปก่อนนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะสรุปให้เสร็จภายในวันที่ 13 ส.ค.นี้
ด้านนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ธ.ค.57 คณะกรรมการขนส่งทางบกลางได้มีมติให้ลดค่าโดยสารรถโดยสารหมวด 2(กทม.-ตจว.) และหมวด 3(ระหว่างจังหวัดกับจังหวัด) ที่ 2 สต./กม. โดยราคาน้ำมันดีเซลขณะนั้นอยู่ที่ 26.89 บาท/ลิตร แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 22.89 บาท/ลิตร โดยกระทรวงพลังงานและ ปตท.ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยของปี 2558 ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 25-26 บาทลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการเดินรถโดยสารในเรื่องของค่าเชื้อเพลิงลดลง ซึ่งกรมขนส่งฯได้วิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนการเดินรถในช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค.58 โดยใช้ราคาน้ำมันดีเซลปัจจุบัน และราคาประเมินที่คาดไว้ของปี 2558 รวมกับปัจจัยต้นทุนการเดินรถด้านอื่นๆ เช่น ค่าพนักงาน ค่าซ่อมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งไม่ได้มีการปรับลดตามราคาน้ำมันดีเซล
"สามารถลดอัตราค่าโดยสารรถหมวด 2 และหมวด 3 ได้ประมาณ 2-3 สต./กม. ซึ่งกรมขนส่งฯ จะสรุปกระทรวงคมนาคมทราบและนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางพิจารณาในการประชุมวันที่ 13 ส.ค.นี้ และคาดว่าจะประกาศบังคับใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.58 เป็นต้นไป โดยจะเป็นการปรับลดทั้งรถบขส.และรถร่วมบริการ บขส." นายธีระพงษ์ กล่าว
สำหรับรถโดยสารหมวด 4 ประเภทสองแถว ซึ่งเป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นฐาน เช่นเดียวกับรถหมวด 2 และหมวด 3 นั้น อัตราค่าโดยสารที่กำหนดในปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 7 บาทตลอดสาย เมื่อวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนการเดินรถในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ค.58 พบว่าอัตราค่าโดยสารที่ใช้ในปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว จึงไม่มีการพิจารณาปรับแต่อย่างใด
ส่วนรถเมล์ ขสมก.และรถร่วมบริการ ขสมก.นั้น ส่วนใหญ่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิง โดยรถร่วมฯ ขสมก.ใช้เอ็นจีวี 100% รถ ขสมก.ใช้เอ็นจีวีประมาณ 60% ดังนั้นจึงไม่ได้มีการพิจารณาปรับค่าโดยสารแต่อย่างใดเช่นกัน