สบน.คาดเสนอแผนบริหารหนี้สาธารณะ 1.72 ล้านลบ.ปีงบ 59 เข้าครม.เดือนนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 13, 2015 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะโฆษก สบน.คาดว่ากระทรวงการคลังจะเสนอแผนบริหารจัดการหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 59 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาได้ภายในเดือนส.ค. นี้ โดยในส่วนแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 59 จะมีกรอบวงเงินอยู่ที่ 1.72 ล้านล้านบาท โดยเป็นการก่อหนี้ใหม่ 6.38 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 37% ของกรอบวงเงิน, บริหารจัดการหนี้เดิมอีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 63% ของกรอบวงเงิน

นอกจากนี้ จะเสนอที่ประชุม ครม.ให้พิจารณาการปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 3/2558 ซึ่งจะปรับลดวงเงินจากการกู้เงินลง 1.2 แสนล้านบาทจากโครงการที่ไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการในปีงบประมาณนี้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โยกไปปี 59, การใช้เงินยืมจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 1.43 หมื่นล้านบาท และรายได้รัฐวิสาหกิจที่เข้ามาทดแทนได้

ทั้งนี้ในส่วนการก่อหนี้ใหม่ของปีงบประมาณ 59 จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกบอบด้วย 1. ขาดดุลงบประมาณปี 59 3.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 60% ของวงเงินกู้ใหม่ 2. การกู้เพื่อการลงทุน 1.25 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของกรอบวงเงินกู้ใหม่ ในส่วนนี้จะแบ่งเป็น 6.3 หมื่นล้านบาทให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อเพื่อนำไปลงทุน และ 3. การกู้เงินของรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของกรอบวงเงินกู้ใหม่ แบ่งเป็น รัฐวิสาหกิจที่จะกู้นำไปลงทุนตามแผน, กู้เพื่อลงทุนนอกแผน อาทิ บมจ.การบินไทย (THAI) และบมจ. ปตท. (PTT) วงเงิน 4.3 หมื่นล้านบาท, องค์กรมหาชน อาทิ กองทุนน้ำมัน

นายธีรัชย์ กล่าวว่า ได้มีการประเมินผลกระทบจากการกู้เงินในปีงบประมาณ 59 ไว้หมดแล้ว ซึ่งยืนยันว่า จากแผนทั้งหมด ยังอยู่ในกรอบวินัยความยั่งยืนทางการคลัง ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง โดยมีการประเมินอัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP ในปีงบประมาณ 58 คาดว่าจะอยู่ที่ 44.9-45% จากการเติบโตของ GDP 3-3.5%

ขณะที่ปี 59 หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 48.3% ปี 60 อยู่ที่ 51% ปี 61 อยู่ที่ 52% ปี 62 อยู่ที่ 53% ปี 63 อยู่ที่ 52%

"แนวโน้มการก่อหนี้มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้สมมติฐานว่า รัฐบาล ยังมีความจำเป็นในการดำเนินงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปถึงปี 62 และปี 63 ขณะที่การกู้เงินและการใช้จ่ายเงินของรัฐวิสาหกิจในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีการคาดการณ์ไว้ค่อนข้างสูง ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการได้ตามแผนจริงหรือไม่"

นอกจากนี้ยังมีการประเมินภาระหนี้ต่องบประมาณในแต่ละปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ ไม่เกิน 15% จากปัจจุบันอยู่ที่ 9% แต่บางปีอาจปรับขึ้นเกิน 10% ไปบ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ