"เมื่อยักษ์ขยับตัวแบบนี้ก็เกิดผลกระทบมากต่อประเทศเล็กประเทศน้อย ผมเข้าใจว่าเป็นการปรับเพื่อให้เขาได้ดุลการค้ากับชาติใหญ่ ๆ ด้วยกัน เป้าหมายคืออียู และญี่ปุ่น...เพราะจีนทำ QE ไม่ได้ ฐานสกุลเงินของเขายังไม่กว้างพอ จึงต้องใช้วิธีลดค่าเงิน"นายสมหมาย กล่าว
นายสมหมาย กล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกของไทยนั้น ถือว่าไทยค่อนข้างโชคดี เนื่องจากสินค้าที่ส่งไปจำหน่วยยังประเทศจีนส่วนใหญ่เป็นปัจจัยการผลิต อันดับแรก คือ เม็ดพลาสติก ยางพารา เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หากการลดค่าเงินหยวนเพื่อหวังกระตุ้นการส่งออกของจีนเป็นหลัก เมื่อการส่งออกของจีนดีขึ้นก็จะทำให้การส่งออกสินค้าวัตถุดิบของไทยไปยังจีนได้รับประโยชน์ด้วย
ส่วนในด้านการท่องเที่ยวนั้น ก็เชื่อว่าจะกระทบกับไทยไม่มากเช่นกัน แม้ว่าในปี 57 จะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้ามาในไทยถึง 4.6 ล้านคน แต่มาจากคนจีนที่มีพาสปอร์ตแค่ 5%ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น หากจากนี้ไปชาวจีนสามารถทำพาสปอร์ตได้เพิ่มขึ้น ก็คงจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มอีกอย่างแน่นอน
นายสมหมาย กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากเงินหยวนที่อ่อนค่าลงมากอาจจะรุนแรงกับประเทศอื่นมากกว่าประเทศไทย โดยหากดูจากค่าเงินจะพบว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงราว 0.25% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่กระทบกับค่าเงินรูเปี๊ยะห์ของอินโดนีเซียให้อ่อนค่าลงถึง 1.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัญ และริงกิตมาเลเซีย 4.0% เมื่อเทืยบกับดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้น ประเทศไทยควรจะใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาส แต่น่าเสียดายที่บรรยากาศของประเทศในเรื่องความเชื่อมั่นติดลบ อย่างเช่น กรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยเฉพาะฝ่ายเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนต่างชาติชะงัก เพราะเกิดความไม่มั่นใจผู้ที่จะดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องเตรียมแผนใด ๆ เพื่อรับมือค่าเงินหยวน เพราะเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ดูแลได้
"เราไม่ควรจะทำอะไรโดยเจตนาให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปกว่านี้อีกแล้ว แบงก์ชาติก็วางใจที่ทุนสำรองยังมาก ก็เน้นดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบมากเท่านั้น เชื่อว่าแบงก์ชาติรับมือได้ รัฐบาลไม่ต้องเตรียมอะไรรับมือ แต่ควรเน้นการสร้างความเชื่อมั่นเท่านั้น และคนที่จะสร้างความเชื่อมั่นได้คือท่านนายกรัฐมนตรี ผมพูดได้เท่านี้" นายสมหมาย กล่าว