"รัฐบาลจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ต้องการเม็ดเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้นและมาก อัดฉีดเงินเข้าสู่ฐานรากมีความจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งราคาน้ำมัน ราคายาง ข้าว จะยังตกต่ำลง"
สำหรับค่าเงินบาท มองว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลง 3-4% ซึ่งในสถานการณ์ขณะนี้ เงินบาทที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์ถือว่าเหมาะสม และปัจจุบัน ธปท.ก็ใช้นโยบายบริหารเงินบาทในลักษณะลอยตัวอยู่แล้ว
"ปัจจุบันประเทศไทยใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ทำให้ธปท.สามารถลดค่าเงินบาทได้ทุกวัน โดยเอาบาทเทขายซื้อดอลลาร์เข้ามา แต่ธปท.จะทำหรือไม่เป็นอีกเรื่องนึง ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาบาทอ่อนลงมา 3-4% ใกล้เคียงประเทศเพื่อนบ้านจากช่วงต้นปีเงินบาทอ่อนลง 1% เพราะฉะนั้นถือว่าตอนนี้บาทอ่อนใช้ได้ แต้มต่อระหว่างบาทกับหยวนใกล้เคียงกัน แต่ประเด็นอยู่ที่คนจีนจะต้องจ่ายเงินหยวนมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าไทย คนจีนจะรู้สึกว่าเงินหยวนด้อยค่าลงก็จะระวังการจ่าย แต่เมื่อระยะปานกลางเศรษฐกิจจีนเข้มแข็งขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น ก็จะกลับมาจ่ายเพิ่มขึ้น"
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า กรณีธนาคารกลางจีนประกาศลดค่าเงินหยวนคงจะต้องหาข้อเท็จจริงว่า จีนลดค่าเงินหยวนเพราะอะไร เพราะการลดค่าเงินเป็นสิ่งที่คนทั่วไปจะตกใจได้ง่ายและจะทำในขณะที่สถานการณ์ไม่ปกติ
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายของจีนเป็นความผิดปกติในความไม่ปกติ เหตุผลที่สำคัญคือการลดค่าเงินจะทำในสองกรณี คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด คือมีเงินไหลออกนอกประเทศมาก และทำให้ประเทศขาดทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์ แต่จีนมีทุนสำรองมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่มีดอลลาร์มากที่สุดอันดับ 1 ของโลก และเป็นประเทศเจ้าหนี้ ดังนั้นจีนจึงไม่ใช่ประเทศที่ขาดเงินดอลลาร์ในประเทศ ประเทศจีนแม้ว่าการส่งออกไม่เด่นแต่การนำเข้าก็ไม่ถือว่าขาดดุลการค้าอย่างรุนแรงจนทำให้จีนต้องขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักเหมือนกับที่ไทยเคยเจอวิกฤติต้มยำกุ้ง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 8% และต้องลดค่าเงินบาท หรือเช่นกรณีเวียดนามขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 10% และต้องลดค่าเงินด่อง สหรัฐฯเองก็เคยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด6% และนำไปสู่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์และปรับค่าเงิน
"จีนไม่ได้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มีทุนสำรองเยอะมากจึงไม่น่าจะลดค่าเงินเพราะขาดดอลลาร์"
อีกประการหนึ่งการลดค่าเงินส่วนใหญ่จะทำเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ใช้นโยบายค่าเงินอ่อน เริ่มจากสหรัฐฯ ออก QE ทำให้ดอลลาร์อ่อนจนกดดันให้เงินยูโรแข็งจนแก้ไขปัญเศรษฐกิจของตัวเองจนฟื้น ขณะที่ยุโรปเมื่อค่าเงินแข็ง ยุโรปก็ออก QE กดดันให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่า ท้ายสุดญี่ปุ่นก็ออก QE เพื่อให้ค่าเงินเยนอ่อนมันจึงทำให้ค่าเงินหยวนแข็งเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ และจีนก็ไม่ได้ทำให้ค่าเงินตัวเองอ่อนลงมาก อ่อนเพียงประมาณ 1-2% ขณะที่ยูโรอ่อนค่า 20% เงินเยนอ่อน 20% ท้ายสุดทำให้เศรษฐกิจจีนซึมลง จีนพยายามแก้ปัญหาตัวเอง ด้วยการลดดอกเบี้ย 4 ครั้งรวม 8% กว่าๆ แต่เศรษฐกิจจีนไม่ได้ฟื้นและคนยังไม่มั่นใจว่าจีนฟื้น จึงทำให้ตลาดหุ้นจีนตกลง 2 ครั้ง 30% กว่าๆ และถูกเข้าใจว่าเศรษฐกิจจีนจะพัง
"คาดว่าจีนใช้วิธีนี้เป็นไม้ตายสุดท้ายเพื่อที่จะบอกว่าเศรษฐกิจต้องการการฟื้นความเชื่อมั่น จึงใช้วิธีที่ทุกประเทศใช้แต่ไม่ใช้ QE คือการลดค่าเงินตัวเองทำให้จีนเข้าสู่สงครามค่าเงิน โดยการลดค่าเงิน 2% และลดซ้ำอีกเพื่อจะทำให้ตลาดค่อยๆปรับตัว...ถือว่าจีนสร้างความตกใจให้ทั่วโลกว่าจีนทำอะไร ลดค่าเงินหยวนเพราะอะไร ไม่มีข่าวคราวว่าเศรษฐกิจจีนจะพัง หุ้นตกใจแต่ไม่ได้ตกลงรุนแรง จีนต้องการพยุงเศรษฐกิจตัวเอง แต่ไม่มีข่าวคราวว่าแบงก์จีนจะล้ม ไม่มีข่าวว่าจีนขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รัฐบาลจีนมีหนี้สินรุงรัง"
ดังนั้น การลดค่าเงินหยวนจึงทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะดีขึ้นในระยะปานกลาง เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้โต 7% และต้องการฟื้นความเชื่อมั่น รวมทั้งปรับสมดุลของเศรษฐกิจโลก หลังทุกประเทศใช้ QE กันหมดแล้ว
ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า สหรัฐฯ แก้ปัญหาแล้วด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ยุโรปแก้ปัญหากรีซ ญี่ปุ่นพยุงสถานการณ์ได้แล้วและกำลังจะฟื้น และถ้าจีนทำสำเร็จโลกจะเข้าสู่การฟื้นตัว
"ทุกคนกำลังรักษาตัวเอง เศรษฐกิจโลกอาจจะฟื้นตัวครึ่งปีหลังของปีหน้า"นายธนวรรธน์ กล่าว