กสิกรฯ ชี้ลดค่าหยวนยังกระทบส่งออก-ท่องเที่ยวกรอบจำกัด แต่แนะจับตาทิศทางศก.จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 14, 2015 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจุบันผลกระทบของการลดค่าเงินหยวนอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อทิศทางการส่งออกของไทยไปจีน และตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามายังไทย โดยผลกระทบเบื้องต้นต่อการส่งออกของไทยยังคงอยู่ในกรอบที่จำกัด โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนตลอดปี 2558 คงหดตัวในช่วงร้อยละ (-)5.5 ถึง (-)3.2

การอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินหยวน คงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาในฐานะที่จีนถือเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 11.0 ทั้งนี้ หากพิจารณาโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยไปจีน พบว่า การส่งออกกระจุกตัวอยู่ในสินค้าโภคภัณฑ์กว่าร้อยละ 50 และเป็นสินค้าขั้นกลางอีกกว่าร้อยละ 10 ซึ่งที่ผ่านมานั้น สินค้าส่งออกหลักไม่ว่าจะเป็นเม็ดพลาสติก ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ตลอดจนเคมีภัณฑ์ ล้วนได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ดิ่งลง ขณะที่การส่งออกสินค้าขั้นกลางประเภทชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ก็มีแนวโน้มไม่สดใส จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 หดตัวถึงร้อยละ 7.0 (YoY)

อย่างไรก็ดี คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนคงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งได้รับผลกระทบจากฐานราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงในปีก่อน กอปรกับปริมาณการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลายตัวในช่วงที่ผ่านมายังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากเงินหยวนไม่ดิ่งค่าลงอีกอย่างต่อเนื่อง ก็คงจะกระทบต่อภาพรวมมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังจีนในช่วงที่เหลือของปี 2558 ในกรอบที่จำกัด โดยคาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนตลอดปี 2558 จะหดตัวในช่วงร้อยละ (-)5.5 ถึง (-)3.2 ภายใต้ข้อสมมติฐานว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้ยังสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ที่ร้อยละ 6.9 และอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนกลับมาเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินหยวนจะอ่อนค่าลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับเงินบาท ทว่า หากนับตั้งแต่ต้นปี อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทก็ยังคงอ่อนค่ากว่าเงินหยวนโดยเปรียบเทียบ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 7.0 (YTD) เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ เงินหยวนอ่อนค่าลงเพียงร้อยละ 3.2 (YTD) ส่งผลให้เงินบาทเมื่อเทียบกับเงินหยวนอ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 3.7 (YTD) ทำให้การอ่อนค่าของเงินหยวนไม่น่าส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้าขั้นกลาง รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย

ค่าเงินหยวนที่มีแนวโน้มอ่อนลง แม้ว่ายังคงเป็นทิศทางอ่อนค่าที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค แต่ก็น่าจะช่วยลดช่วงห่างของความเสียเปรียบด้านค่าเงินของจีนในตลาดประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ ซึ่งขยายตัวได้ดีอยู่แล้วจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัว อันทำให้การส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 ขยายตัวถึงร้อยละ 7.5 (YoY) ขณะที่ การส่งออกของจีนไปสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งหดตัวร้อยละ 4.2 (YoY) และ 11.0 (YoY) ตามลำดับ ในช่วงเวลาเดียวกัน อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซาของทั้งสองภูมิภาคและค่าเงินสกุลท้องถิ่นที่อ่อนค่าลงไปมาก ก็คงจะปรับตัวดีขึ้นได้บ้างจากเงินหยวนที่อ่อนค่า ซึ่งก็คงจะมีอานิสงส์ในทางอ้อมถึงการส่งออกของไทยไปยังจีนในระดับหนึ่ง ผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเพิ่มความระมัดระวังในการคาดการณ์การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2558 นี้ โดยคาดว่าจะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-)5.5 ถึง (-)3.2 เทียบกับการคาดการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ว่าจะหดตัวร้อยละ (-)1.0 เนื่องจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินหยวนและความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน น่าจะส่งผลกดดันให้การฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ล่าช้าออกไป อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องจับตาถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีน รวมถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนในระยะข้างหน้า เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ของทางการจีนจะไม่ส่งผลกระทบทางบวกได้มากเท่าที่คาด ซึ่งจะทำให้โมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจจีนกลับมาเป็นประเด็นที่ต้องกังวลอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่ทิศทางของตลาดนักท่องเที่ยวจีนในช่วงที่เหลือของปี 2558 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะยังเติบโตได้ โดยสังเกตได้ว่า แม้ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่ล่าสุดการปรับตัวอ่อนค่าลงของเงินหยวนนั้น โดยเปรียบเทียบแล้วยังอ่อนค่าลงน้อยกว่าการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น เมื่อพิจารณาค่าเงินหยวน ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2558 อยู่ที่ 5.49 บาท เทียบกับค่าเฉลี่ยของเงินหยวนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 5.23 บาท สะท้อนได้ว่าค่าเงินบาทยังอ่อนตัวเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวนในช่วงต้นปี

ทั้งนี้ จากการที่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเป็นจำนวนมากในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมทั้งปี 2558 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 7.24 ล้านคน เติบโตประมาณร้อยละ 56.1 เมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 0.3 ในปี 2557 ทั้งนี้ อัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าชะลอลง โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานของจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องอาจจะต้องติดตามสถานการณ์ตลาดนักท่องเที่ยวจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในปีนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวจากจีนอย่างมาก เพื่อเข้ามาทดแทนตลาดอื่นที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวมากขึ้น ซึ่งแม้ว่า ณ ขณะนี้ยังประเมินว่าการอ่อนค่าของเงินหยวนในระดับไม่เกินร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีนมากนัก อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาว่าถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้ายังคงออกมาในทิศทางที่อ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดหมาย ก็อาจส่งผลกดดันต่อค่าเงินหยวนของจีนให้อ่อนค่าลงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งอาจกระทบต่ออำนาจซื้อของตลาดนักท่องเที่ยวจีนบางกลุ่ม ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องมาสู่การเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีนมายังประเทศไทยอย่างไม่อาจเลี่ยง

อย่างไรก็ตาม ทิศทางแนวโน้มของค่าเงินหยวนในระยะข้างหน้า คงขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจจีน ซึ่งหากยังสะท้อนภาพที่อ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด ก็อาจกดดันให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งในกรณีดังกล่าว ผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวที่พึ่งพาตลาดจีน ก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นตามลำดับด้วย เนื่องจากการลดค่าเงินหยวนของจีนในช่วงต้นสัปดาห์ ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของท่าทีเชิงนโยบายในการจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของทางการจีน ซึ่งมีนัยถึงแนวโน้มอ่อนค่าในระยะยาวของเงินหยวน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ