"ผลสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนล่าสุดในเดือน ก.ค.58 นั้น พบว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ไปอยู่ที่ 43.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
การที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน(KR-ECI) และดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า(3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 อาจสะท้อนว่า บรรยากาศการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้จะยังคงอยู่ภายใต้ภาวะที่เผชิญแรงกดดันจากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ยังไม่น่าจะสามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติ ตราบใดที่สถานการณ์ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในและนอกภาคการเกษตรส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในภาวะที่เปราะบาง
แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังคงตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในปี 2558 ไว้ที่ร้อยละ 1.3-2.1 แต่ความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่ยังฟื้นตัวช้า อาจทำให้จังหวะการฟื้นตัวของบรรยากาศการใช้จ่ายในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ต้องใช้เวลานานขึ้น ทำให้ยังคงต้องติดตามประเด็นแวดล้อมที่มีผลต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง และหากภาพรวมของเศรษฐกิจไทยทยอยได้รับแรงหนุนจากเม็ดเงินการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี ทั้งจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการเร่งผลักดัน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ก็อาจช่วยทำให้แรงกดดันต่างๆ ของภาคครัวเรือนทยอยคลายตัวลงตาม
โดยขณะนี้เข้าสู่ช่วงต้นครึ่งหลังของปี 2558 แล้วแต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีสัญญาณที่คลุมเครือไม่แตกต่างไปจากช่วงครึ่งปีแรก แม้การท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นกลไกที่ช่วยประคองเส้นทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่อาจจะไม่สามารถชดเชยกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ ที่ยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะการส่งออก ผลผลิตภาคการเกษตร การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะยังคงหดตัวลง พร้อมๆ กับเครื่องชี้ที่อ่อนแอของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน
"บรรยากาศความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างซบเซา เพราะแม้ในระหว่างเดือนจะมีการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศลงถึง 5 ครั้งตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับผู้ประกอบการ/ห้างร้านต่างๆ ต่างก็มีการจัดรายการส่งเสริมการขาย แต่แรงหนุนดังกล่าวก็ยังคงช่วยชดเชยภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนได้เพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งดัชนีองค์ประกอบด้านค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมภาระหนี้ยังคงปรับลดลงเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ระดับ 35.6 จากระดับ 35.8 ในเดือนก่อนหน้า" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะการออมเงินเมื่อเทียบกับช่วงหลายเดือนก่อน ซึ่งอาจเป็นผลสะท้อนมาจากความตึงตัวระหว่างรายได้/การมีงานทำ และภาระค่าครองชีพ โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ หรืออยู่ในกลุ่มอาชีพที่มีรายได้ตามวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยดัชนีองค์ประกอบด้านรายได้ของครัวเรือนลดลงมาอยู่ที่ 45.4 ในเดือน ก.ค.58 จากระดับ 45.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยทั้งดัชนีมุมมองต่อการมีงานทำ และดัชนีมุมมองต่อค่าตอบแทนในการทำงาน ลดลงมาอยู่ที่ 45.0 และ 45.8 จากระดับ 45.4 และ 46.2 ในเดือนก่อนหน้าตามลำดับ
ขณะที่สถิติภาวะการทำงานของประชากรจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า จำนวนผู้มีงานทำภาพรวมทั้งประเทศลดลงจาก 38.23 ล้านคนในเดือน มิ.ย.58 มาอยู่ที่ 38.10 ล้านคนในเดือน ก.ค.58 โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 0.8 หรือประมาณ 3.05 แสนคน เป็นผู้ที่ทำงานแต่ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และ/หรือยังมีเวลา พร้อมที่จะทำงานได้อีก