นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอศักยภาพของนิคมอุตสาหกรรมหนองคาย ซึ่งเป็นโครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.หนองคาย โดย กนอ. ดำเนินงานร่วมกับ บริษัท นาคาคลีน เพาเวอร์ จำกัด ภายในงานยังมีกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการ และนักธุรกิจไทย-ลาวเพื่อเพิ่มโอกาส และช่องทางในการทำตลาดที่กว้างขึ้น เป็นการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มและสร้างระบบซัพพลายเชนที่มีศักยภาพ การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน และเงินลงทุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยกลุ่มนักลงทุนดังกล่าว ประกอบด้วย กลุ่มผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม กลุ่มเครือข่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม(ID Net : Industrial Cooperation Development Network)เขตเศรษฐกิจพิเศษ กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรม และธุรกิจที่มีศักยภาพอื่นๆ และโอกาสด้านการตลาดโดยกลุ่มผู้ประกอบการ สปป.ลาว ประกอบด้วย ผู้บริหาร NCSEZ สปป.ลาว กลุ่มผู้ประกอบการนักธุรกิจไทย-ลาว
ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านธุรกิจอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระหว่างกนอ.และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีเป้าหมายเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง 2 ฝ่าย และสร้างโอกาสทางการลงทุนให้กับผู้ประกอบการและนักธุรกิจทั้ง 2 ประเทศ และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลในการปฏิรูปพัฒนาประเทศให้ไปในทิศทางที่เหมาะสม และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และเขตเศรษฐกิจพิเศษของทั้งไทยและสปป.ลาว จะเป็นกลไกและเครื่องมือหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งทางด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม การพาณิชย์ การท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงทั้งในระดับพื้นที่และประเทศโดยรวม"นายวีรพงศ์ กล่าว