โดยในส่วนของการเจรจา FTA ทั้งสองฝ่ายคาดว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ภายในกลางปี 2560 โดยกรอบการเจรจา FTA ประกอบด้วย การลดภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีของสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัย อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การระงับข้อพิพาท การอำนวยความสะดวกทางการค้า และความโปร่งใส
ทั้งนี้ การเจรจา FTA จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการค้าของทั้งสองประเทศ โดยปากีสถานสามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีประชากรกว่า 600 ล้านคน และเป็นประตูไปสู่ประเทศที่อาเซียนกำลังเจรจา FTA ด้วย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากรรวมกันทั้งสิ้นกว่า 3 พันล้านคน ในขณะที่ไทยก็สามารถใช้ปากีสถานเป็นประตูการค้าไปยังภูมิภาคเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง รวมทั้งตะวันตกของจีน รวมถึงสมาชิกกลุ่มประเทศในองค์การความร่วมมืออิสลาม(OIC) ซึ่งมีประชากรประมาณ 2 พันกว่าล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ราว 1 ใน 3 ของตลาดโลก
สำหรับความร่วมมือทั้งสองฝ่ายได้หารือในด้านต่างๆ ได้แก่ 1.สิ่งทอ ปากีสถานซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตเส้นใยจากฝ้าย และเครื่องแต่งกายของชาย ได้เชิญให้ภาคเอกชนไทยมาลงทุนในปากีสถาน โดยเฉพาะในการผลิตเครื่องแต่งกายสตรีและเด็ก โดยปากีสถานมีการให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุนในสเปเชี่ยลอีโคโนมิคโซน (Special Economic Zone) และในเอ็กซปอร์ตโพรเซสซิ่งโซน (Export Processing Zone) นอกจากนั้น นักลงทุนยังได้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีที่ปากีสถานได้รับจากสหภาพยุโรปภายใต้โครงการ GSP พลัส (GSP+)
2.อัญมณี ไทยจะพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้ความช่วยเหลือปากีสถานใน 2 ด้าน ได้แก่ (1) การฝึกอบรมด้านอัญมณีศาสตร์ การออกแบบ การตลาด และ (2) การวิจัยในด้านแหล่งอัญมณี ธรณีวิทยา คุณภาพของอัญมณีในปากีสถาน และจะพิจารณาข้อเสนออื่นๆ ของปากีสถานในเรื่องความร่วมมือทางเทคนิค
3.อาหาร เกษตรและการประมง ปากีสถานได้แสดงความขอบคุณไทยที่ให้ความช่วยเหลือด้านการประมง และในการหารือครั้งนี้ ไทยและปากีสถานตกลงที่จะร่วมมือกันต่อไปเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของปากีสถาน โดยไทยจะพิจารณาข้อเสนอโครงการความร่วมมือของปากีสถาน นอกจากนั้น ไทยจะพิจารณาความเป็นไปได้ในการลงนาม MOU ด้านความร่วมมือทางการประมงกับปากีสถาน ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันกำจัดการประมงที่ผิดกฎหมาย สำหรับเรื่องสินค้าเกษตรนั้น ปากีสถานเชิญผู้ประกอบการไทยเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารเกษตรแปรรูป
4.สุขภาพและบริการสุขภาพ ไทยยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือปากีสถานในการป้องกันและรักษาโรคไข้เลือดออก ปากีสถานแสดงความขอบคุณไทยที่ให้การสนับสนุน และจะส่งข้อร้องขอความร่วมมือที่ต้องการจากฝ่ายไทย นอกจากนี้ ปากีสถานเชิญไทยให้ร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลปากีสถานและผู้ให้บริการด้านสุขภาพ
5.ยานยนต์และส่วนประกอบ อุตสาหกรรมยานยนต์ของปากีสถานมีศักยภาพในการเติบโต ในขณะที่ไทยเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งไทยยินดีที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้คำแนะนำ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของปากีสถาน
6. ด้านการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ปากีสถานจะให้ความร่วมมือกับไทยในการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ในส่วนของผลการเจรจาธุรกิจ (B to B) นั้น มีผู้ซื้อ (Buyers) ให้ความสนใจเข้าร่วมเจรจาธุรกิจทั้งสิ้น 182 ราย ได้มียอดสั่งซื้อใน 1 ปี มูลค่า 9.3 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าสำคัญ ดังนี้ วัสดุก่อสร้าง (ถ่านหิน) 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, มาม่า ได้เอเย่นต์ใหม่, สุรพล ซีฟู้ดซื้อกุ้งจากปากีสถาน, ชิ้นส่วนยานยนต์, ระบบกรองน้ำ, เครื่องทำความสะอาดในห้องผ่าตัด โดยในกรณีของชิ้นส่วนยานยนต์ล ระบบกรองน้ำ และเครื่องทำความสะอาดในห้องผ่าตัดมีแนวโน้มดีมาก เพราะปากีสถานขาดแคลน
นอกจากนี้ สินค้าไทยที่ได้รับความสนใจสูง ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ และจักรยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อาหาร วัสดุก่อสร้าง เช่น ไฟเบอร์บอร์ด ขณะที่เอกชนไทยสนใจท่าเรือ Gwader ที่จีนลงทุน เพื่อเป็นสายทางเชื่อมโยงท่าเรือทวายในพม่า ซึ่งจะแล้วเสร็จอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะทำให้ปากีสถานขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อไป รวมทั้งสนใจการลงทุนด้านพลังงานและประมงด้วย
"ผมเชื่อมั่นว่า FTA ไทย-ปากีสถาน จะช่วยขยายโอกาสในการส่งออก การแข่งขันและการลงทุนแก่ทั้งสองประเทศ ทั้งในตลาดไทยและปากีสถาน และในตลาดที่ทั้งสองประเทศมีความตกลง FTA ด้วย ซึ่งจะทำให้การค้าสองฝ่ายขยายตัวและสามารถบรรลุเป้าหมายทางการค้าที่ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560" รมว.พาณิชย์ กล่าว