ทั้งนี้ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด โดยนายทินกร พันพานิชย์กุล ผู้รับมอบอำนาจ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์, น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ, พล.ต.วราห์ บุญญะสิทธิ์, นายวันชาติ สันติกุญชร, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, นายพีระพงศ์ รอดประเสริฐ, นางปราณี ศุกระศร, นายยุกต์ จารุภูมิ และนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย เป็นจำเลยที่ 1-9 ต่อศาลอาญา ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542(พ.ร.บ.ฮั้วประมูล) และมาตรา 9, 10, 11, 12 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 มี.ค.58 ขสมก.โดยจำเลยที่ 1-7 ได้จัดประกวดราคารถเมล์ระบบ NGV จำนวน 489 คันทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งโจทก์และกิจการร่วมค้ากับบริษัทแห่งหนึ่งโดยจำเลยที่ 9 ได้เข้าร่วมประกวดราคาด้วย ต่อมาโจทก์กับบริษัทดังกล่าวได้ผ่านการเข้าประกวดราคารอบแรก โดยการประกวดราคาครั้งนี้ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 8 เป็นประธานประกวดราคาและประธานกรรมการตกลงและต่อรองราคา ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดราคา และมีจำเลยที่ 1-7 เป็นผู้ควบคุมอีกที
จำเลยที่ 1-8 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กล่าวคือ จำเลยมีหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าประกวดราคาให้เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนของขอบเขตของงาน(Term of reference) แต่จำเลยไม่ดำเนินการ กล่าวคือ บริษัทผู้แข่งขันเข้าประกวดราคาที่เข้ารอบร่วมกับโจทก์ไม่มีการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติของรถเมล์ที่ส่งเข้าประมูลตามระเบียบขั้นตอนที่ระบุไว้ใน Term of reference โดยเฉพาะไม่มีการกล่าวถึงการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบ NGV กับหน่วยงานข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ แต่จำเลยก็ไม่ได้ทำการตัดสิทธิบริษัทดังกล่าว
ต่อมาภายหลังที่มีการประกวดราคาเรียบร้อยไปแล้ว จำเลยที่ 1-8 มีหน้าที่ตรวจสอบการตกลงและต่อรองราคาอีกครั้งหนึ่ง โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และประธานกรรมการประกวดราคา เป็นผู้ดำเนินการตกลงต่อรองราคา แต่จำเลยที่ 8 ร่วมกับจำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวมีการกระทำโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้เข้าทำการเสนอราคา เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ด้วยการแก้รายละเอียดคุณสมบัติของบริษัทผู้แข่งขันดังกล่าวให้ถูกต้องตามระเบียบ ทำให้บริษัทดังกล่าวชนะการประกวด ทั้งที่ความจริงบริษัทดังกล่าวมีการแก้ไขเงื่อนไขหลังจากได้มีการประกวดราคาและต่อรองราคาไปแล้ว ซึ่งขัดต่อ Term of reference ขณะที่จำเลยที่ 1-7 เป็นผู้ดูแลให้เป็นไปตามระเบียบแต่กลับปล่อยปะละเลย จึงเข้าลักษณะเป็นตัวการร่วมการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 8 การกระทำดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลเรียกจำเลยมาเพื่อไต่สวนมูลฟ้องต่อไป