นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ในเกณฑ์ที่น่าพอใจภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี รวมทั้งภาวะความตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
ทั้งนี้ การปรับประมาณการณ์ GDP ใหม่เหลือโต 2.7-3.2% นั้น เนื่องจากเห็นว่าแม้ว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกจะขยายตัว 2.9% ใกล้เคียงกับกรอบล่างของการขยายตัว 3-4% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาก็ตาม แต่อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้ายังอยู่ในช่วง 0.3-0.4% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลวัตรทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในครึ่งปีแรก
ขณะที่พลวัตรการฟื้นตัวในครึ่งปีหลังยังมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขเศรษฐกิจโลก ทั้งทางด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและความล่าช้าในการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตร และปัจจัยภายในที่เกิดจากปัญหาภัยแล้ง
นอกจากนี้ การปรับลดสมมติฐานอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากเดิม 3.4% เป็นการขยายตัว 3.1% ในการประมาณการครั้งนี้ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี และต่ำกว่าการขยายตัว 3.2% ในปี 57 โดยช่วงครึ่งหลังของปี 58 การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มที่จะชะลอลงจากครึ่งปีแรก ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยูโรโซนปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินเยนและยูโร เงื่อนไขดังกล่าวทำให้แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกต่อภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังยังไม่ปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรกอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน ปัญหาภัยแล้งซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการประมาณการครั้งที่ผ่านมามีความชัดเจนมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า การขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่ยังสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 2.การอ่อนค่าของเงินบาทที่จะทำให้รายรับจากการส่งออกและสภาพคล่องในรูปเงินบาทของผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 3.การขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยว 4. ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งช่วยเพิ่มอำนาจซื้อและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นตามการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวและการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในแดนลบตามสถานการณ์ราคาพลังงานและอุปสงค์ในประเทศซึ่งยังต้องติดตามการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนและการตอบสนองของภาคธุรกิจต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาอย่างใกล้ชิด ในขณะที่เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางอ่อนค่าตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ
สภาพัฒน์ ประเมินว่า ทั้งปี 58 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ในช่วง 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากระดับเฉลี่ยที่ 32.47 บาท/ดอลลาร์ในปี 57 ขณะที่คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปีจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วง 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนกรณีที่ทางการจีนประกาศลดค่าเงินหยวน ล่าสุดเงินหยวนอ่อนค่าไป 2-3% และอาจจะมีโอกาสอ่อนค่าไปมากกว่านี้ได้ ในขณะที่เงินบาทอ่อนค่าไปราว 5% นั้น มองว่าหากเงินหยวนอ่อนค่าอยู่ในระดับนี้ ก็จะไม่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทและการส่งออกไทยมากนัก
"ไม่ว่าจะบาทอ่อนบาทแข็ง สิ่งสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการแข่งขันของเราเอง เราต้องสร้างความเข้มแข็งของเรา...ความน่าเชื่อถืออยู่ที่นโยบายการเงิน การดูแลเสถียรภาพค่าเงินของเรา อย่างที่ภาคเอกชนเรียกร้องมาตลอด อยากให้บาทนิ่งและมีเสถียรภาพ"เลขาธิการ สศช.กล่าว
นายอาคม กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากครึ่งปีแรก ในขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อฐานรายได้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจ SMEs
ดังนั้น การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปีควรให้ความสำคัญกับประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
1.การใช้จ่ายเงินงบประมาณและขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง 2.การดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือ SMEs ซึ่งได้เตรียมการไว้แล้ว 3.การแก้ไขปัญหาการผลิตในภาคเกษตร ด้วยการดูแลต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตร การส่งเสริมการรวมกลุ่มและการรวมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งการส่งเสริมการทำสัญญาเช่าที่ดินทางการเกษตรในลักษณะการแบ่งปันผลผลิต
และ 4.การแก้ไขปัญหาด้านการส่งออก โดยประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแสวงหาตลาดและเพิ่มปริมาณสินค้าส่งออกที่สำคัญ และการดูแลค่าเงินบาท ตลอดจนการลดความล่าช้าในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ
"เราคาดหวังว่าถ้าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโตได้ 3% ก็จะทำให้ทั้งปีอยู่ที่ 3% ได้ ส่วนโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้มากกว่า 3% ก็มีความเป็นได้ไหม ก็มีทั้ง 2 ทาง คือมองโลกในแง่ร้าย หรือมองว่าเป็นไปได้ ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะดีหรือไม่ดีก็ตาม การค้าชายแดนเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะทำอย่างไรในการสร้าง Value Added จากวัตถุดิบของประเทศเพื่อนบ้านได้" นายอาคม กล่าว
พร้อมกันนี้มองว่า แม้ภาคการส่งออกของไทยในปีนี้อาจจะยังไม่เติบโตนัก แต่เศรษฐกิจไทยยังมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยชดเชยได้เกือบ 100% ของรายได้จากการส่งออกปีนี้ที่อาจจะหายไปเกือบ 4% นอกจากนี้ยังมีส่วนเสริมจากการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐในโครงการลงทุนก่อสร้างใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย ซึ่งคาดว่าสายที่สามารถดำเนินการได้ก่อนคือ สายพัทยา-มาบตาพุด เงินลงทุนมูลค่า 14,000 ล้านบาท, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง, ศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถไฟ รวมทั้งงบกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 40,000 ล้านบาท
ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวถึงการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อลงจากเดิมมาอยู่ที่ติดลบ -0.7 ถึง -0.2% นั้น สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการติดลบทางเทคนิค ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มเห็นราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่พอมีปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจในจีนที่ไม่ค่อยดี และมีการประกาศลดค่าเงินหยวน ก็อาจจะทำให้ราคาน้ำมันไม่สามารถปรับขึ้นได้ตามที่คาดไว้ ทั้งนี้หากจะมองในภาพรวมแล้วถือว่ายังไม่ใช่สถานการณ์ของเงินฝืด เพราะไทยยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการขยายตัวด้านการบริโภค และการลงทุน
"เป็นเงินฝืดทางเทคนิค เพราะเงินเฟ้อปรับตัวลดลงจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงต่อเนื่อง แต่ในส่วนของเศรษฐกิจเรายังมีการขยายตัว รวมทั้งการบริโภคและการลงทุนด้วย" รองเลขาธิการ สศช.ระบุ