SCB EIC คาดศก.ไทยปีนี้อาจโตต่ำกว่า 3% หลังส่งออก-ลงทุน-การผลิตยังชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 17, 2015 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจเติบโตได้ต่ำกว่าระดับ 3.0% ที่ประมาณการไว้เดิม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกจะสามารถเติบโตได้ 2.9% เท่ากับที่ประมาณการไว้เดิม และยังมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาครัฐและการท่องเที่ยว แต่ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่รุมเร้า เช่น การส่งออกที่หดตัวสูงกว่าที่คาดและรายได้ภาคเกษตรลดลงจากราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ตกต่ำตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม จากทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวกว่าที่คาดและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าเครื่องจักร

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 2 ปี 2558 ขยายตัว 2.8% ชะลอลงจาก 3.0% ในไตรมาสก่อน โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 นี้ถือว่าดีกว่าที่คาด

โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 มีแรงสนับสนุนหลักจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ เศรษฐกิจภาคบริการยังเติบโตได้ดีจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง โดยธุรกิจโรงแรมและภัตตาคารเติบโตสูงถึง 18.7%การขนส่งและคมนาคมเติบโต 8.6% ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เติบโต 37.6%

ในส่วนของการลงทุนภาครัฐในไตรมาส 2 เติบโตสูงถึง 24.7% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 37.8% โดยเป็นการลงทุนทั้งด้านการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร แต่การก่อสร้างชะลอตัวลงบ้างเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ช้าลงและยังไม่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโครงการใหม่นอกเหนือจากที่กำลังดำเนินการ ในส่วนของการบริโภคภาครัฐเติบโต 4.6% จากการซื้อสินค้าและบริการที่ยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ผลผลิตภาคเกษตรยังหดตัวสูงและภาคอุตสาหกรรมยังอ่อนแอ แม้ว่าตัวเลขภาคอุตสาหกรรมจะดีกว่าที่คาด เศรษฐกิจภาคการเกษตรหดตัวสูงถึง 5.9% จากไตรมาสก่อนที่หดตัว 4.7% โดยมาจากปัญหาภัยแล้งซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมมีการผลิตลดลง 0.7% ตามการส่งออกที่หดตัวสูงและอุปสงค์ในประเทศยังเติบโตในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี การหดตัวของภาคอุตสาหกรรมดีกว่าที่คาดค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับเครื่องชี้วัดการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 ที่หดตัวสูง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวถึง 7.6% และดัชนีปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 3.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน

เศรษฐกิจภาคการเกษตรหดตัวสูงถึง 5.9% จากไตรมาสก่อนที่หดตัว 4.7%โดยมาจากปัญหาภัยแล้งซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมมีการผลิตลดลง 0.7% ตามการส่งออกที่หดตัวสูงและอุปสงค์ในประเทศยังเติบโตในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี การหดตัวของภาคอุตสาหกรรมดีกว่าที่คาดค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับเครื่องชี้วัดการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 ที่หดตัวสูง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวถึง 7.6% และดัชนีปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 3.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน

การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมขยายตัวได้ 1.5% ชะลอลงจาก 2.4% ในไตรมาสก่อน เนื่องจากการบริโภคสินค้าในหมวดยานพาหนะหดตัวถึง 11.5% และการซื้อเฟอร์นิเจอร์หดตัว 3.9% ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำและธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าไม่คงทน หรือสินค้าจำเป็นส่วนใหญ่ยังเติบโตได้ดี เช่น อาหารและเครื่องดื่มขยายตัว 2.5% หมวดที่อยู่อาศัย ประปา และไฟฟ้า เติบโต 3.8% เป็นต้น ขณะที่หมวดบริการขยายตัวดีทั้งด้านการท่องเที่ยวและโทรคมนาคม

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมหดตัว 3.4% จากไตรมาสก่อนที่เติบโตได้ 3.6% เนื่องจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรหดตัวสูงถึง 5.0% ตามการนำเข้าเครื่องจักรที่ลดลงเพราะการผลิต การส่งออก และการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว ขณะที่การก่อสร้างยังเติบโตได้ 2.7% ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 1.8% จากการก่อสร้างอาคารสำนักงานและโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างที่อยู่อาศัยหดตัว 0.4% จากที่เติบโต 1.5% ในไตรมาสก่อน ตามกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ชะลอตัว

ปริมาณการส่งออกสินค้ายังหดตัวถึง 4% ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการโดยรวมหดตัว 0.3% จากการชะลอตัวของการผลิตและการบริโภคในประเทศ แต่รายรับภาคบริการซึ่งมาจากรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวสูงถึง 25.1% เพิ่มขึ้นจาก 14.6% ในไตรมาสก่อน ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 2 เกินดุลถึง 4.2% ของ GDP


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ