"คณะทำงานฯ ของหอการค้าไทยได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ Hong Kong Trade Development Council (HKTDC) เมื่อวันที่ 12-13 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานของสถาบันฯ นอกจากนั้น ยังได้ศึกษาแนวทางการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ของประเทศที่ประสบความสำเร็จ มาเป็นข้อมูลประกอบการจัดตั้งสถาบันฯ ด้วย อาทิ ประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน ที่เน้นการใช้นวัตกรรมภายใต้การวิจัยและพัฒนาเป็นเครื่องมือสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ การสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อเริ่มต้นธุรกิจ การจัดผู้เชี่ยวชาญลงไปให้คำปรึกษา เป็นต้น" นายสุรพล กล่าว
สำหรับพันธกิจหลักของ "Thailand SMEs Center" ประกอบด้วย 6 พันธกิจ ดังนี้
1.สร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneurs) ให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจเบื้องต้น ในการตั้งเป้าหมายธุรกิจ จดทะเบียนธุรกิจ การขอใบอนุญาตต่างๆ การจดทะเบียนทรัพย์สิน การขอรับสินเชื่อจากหน่วยงานต่าง ๆ
2.พัฒนาการจัดการธุรกิจ (SMEs Enhancement) ให้ความรู้อบรมเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจด้านต่างๆ ให้มีมูลค่าเพิ่มและสร้างความแตกต่าง รวมถึงชี้ช่องทางและเชื่อมโยงข้อมูลการช่วยเหลือสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
3.พัฒนาแผนการตลาด และแนวโน้มธุรกิจใหม่ๆ (New Marketing Trend) ให้คำปรึกษาแนวโน้มธุรกิจใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการ
4.ขยายตลาดสู่ ASEAN (Expand ASEAN Business) ให้ความรู้อบรมเกี่ยวกับการทำธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการขยายธุรกิจไปในกลุ่มประเทศ CLMV
5.สร้างเครือข่าย และติดต่อธุรกิจ (SMEs Meets & Networking) สร้างเครือข่าย และติดต่อธุรกิจ สำหรับ SMEs ที่ต้องการจับคู่ธุรกิจ และต้องการสร้างช่องทางธุรกิจ
6.การบ่มเพาะและแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจ (Expert Mentoring) บ่มเพาะและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สำหรับ SMEs ที่ต้องการรับคำปรึกษาเฉพาะทาง
นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจ SMEs เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีจำนวนมากถึง 2,668,293 ราย เกิดการจ้างงานจำนวน 10,529,117 คน (81.0% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ) และสามารถสร้างมูลค่า GDP จำนวน 4,454,939.6 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 37.4% ต่อ GDP ทั้งประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs เป็นอย่างมาก พร้อมประกาศให้เป็น "วาระแห่งชาติ" ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายในการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Economy) ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสัดส่วน GDP ของ SMEs ต่อ GDP รวมของประเทศได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 39.9% ในปี 2546 เหลือเพียง 37.4% ในปี 2556 ซึ่งยังมีสัดส่วนที่ห่างเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่มีสัดส่วน GDP ของ SMEs อยู่ที่ประมาณ 50% ของ GDP รวม
"ปัจจุบัน SMEs ไทยไม่สามารถเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสาเหตุหลายประการ อาทิ ขาดการดำเนินธุรกิจอย่างมีระบบ ขาดทักษะการบริหารจัดการ ตลอดจนขาดความรู้ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังขาดแนวทางการใช้กลยุทธ์การตลาดนำธุรกิจ ไม่เข้าใจความต้องการของลูกค้า ไม่ได้นำเครื่องมือทางการเงินหรือการบัญชีมาใช้วิเคราะห์ ติดตาม และแก้ไขปัญหา รวมไปถึงความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง" นายสมเกียรติ กล่าว
ที่ผ่านมา ภาครัฐก็พยายามลดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจ SMEs ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งข้อมูล แหล่งเงินทุน และเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบต่างๆ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ดังนั้นการปรับตัวด้วยการสร้างวิสัยทัศน์และการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอง จะเป็นหนทางในการนำพาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต ดังนั้นการสร้างความแตกต่างและความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ ตลอดจนการบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นแนวทางสำคัญที่ SMEs ของไทยต้องให้ความสำคัญ
นายกลินท์ สารสิน รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยมีวาระเร่งด่วนที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไม่น้อยกว่า 80,000 ราย โดยมีการให้ความช่วยเหลือ SMEs ในรูปแบบบริษัทใหญ่ช่วยเหลือบริษัทเล็ก เพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งจะใช้ประสบการณ์ทางธุรกิจเข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพธุรกิจ ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ SMEs..วิธีทำเงิน, SMEs…On Site Visit, SMEs…Tips & Mentoring, SMEs…Information Sharing Session, SMEs..แผนดี กู้ง่าย เป็นต้น
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลการสำรวจภาคธุรกิจกว่าพันรายทั่วประเทศพบว่ามีความต้องการเรียนรู้ในหัวข้อต่างๆ เช่น การตลาด การค้าระหว่างประเทศ การเงิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีการบริการวิชาการหัวข้อต่าง ๆ เหล่านี้แก่ผู้ประกอบการอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีแนวทางที่จะพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้เป็น IDE หรือ Innovation Driven Entrepreneur
โดยแนวคิดดังกล่าวมาจากสถาบันเทคโนโยลีแห่งแมสซาชูเซส (Massachusetts Institute of Technology: MIT) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในการสร้างผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม มีโปรแกรม MIT Regional Entrepreneurship Acceleration Program (MIT REAP) โดยหลักสูตรนี้จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยการสร้างวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (IDE)
สำหรับโปรแกรมดังกล่าวนี้จะมี 5 ภาคส่วนสำคัญที่เป็นกลไก คือ รัฐบาล สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ แหล่งเงินทุน และอุตสาหกรรม โดยจะมีระยะเวลา 2 ปี ที่จะทาง MIT จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สร้างความรู้ความเข้าใจ พัฒนายุทธศาสตร์ การสร้างการมีส่วนร่วมระดับนานาชาติ และการนำไปใช้จริงในระดับนโยบายของประเทศ โดยมีประเทศที่ได้เข้าร่วมโครงการ 23 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกเข้าร่วมในปีนี้ ร่วมกับญี่ปุ่น จีน นอร์เวย์ ชิลี อิสราเอล สหราชอาณาจักร และซาอุดิอารเบีย
"IDE จะแตกต่างจาก SMEs ตรงการเจริญเติบโต โดยในช่วงแรกของการจัดตั้งธุรกิจ IDE จะมีผลประกอบการขาดทุน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ผลประกอบการของ IDE จะเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดกว่า SMEs ปกติ ฉะนั้นการพัฒนาและสร้าง IDE จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการได้มากกว่าการพัฒนา SMEs โดยทั่วๆ ไป รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนโยบาย พัฒนายุทธศาสตร์ ผลักดันและสร้างผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมให้แก่ประเทศชาติต่อไป" นางเสาวณีย์ กล่าว