"ประสาร"ร่าย จม.ถึง"อ.ป๋วย"ฝากแนวคิดการทำงาน เชื่อใจ"วิรไท"รับไม้ต่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 18, 2015 17:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยในงาน Governor’s Talk ว่าได้เขียน"จดหมายจากใจถึงอาจารย์ป๋วย ศาสตร์และศิลป์บนเส้นทางห้าปีของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย"ก่อนสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือน ก.ย.นี้ โดยระบุถึงนายวิรไท สันติประภพ ที่จะมารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.คนต่อไปว่าจะสามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีด้วยความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่หลากหลาย
"อาจารย์ครับ อาจารย์อาจจะทราบแล้วว่า ดร.วิรไท สันติประภพ เป็นคนหนุ่มไฟแรง มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ได้รับเลือกมาดำรงผู้ว่าการคนใหม่ต่อจากผม ด้วยประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งด้านตลาดเงิน ตลาดทุน สถาบันการเงิน และการพัฒนาประเทศ ผมเชื่อว่า ดร.วิรไท จะสามารถทำหน้าที่ผู้ว่าการ ธปท. ได้เป็นอย่างดี ขอให้อาจารย์วางใจ"นายประสาร ระบุ

เนื้อหาในจดหมายฉบับนี้ บรรยายถึงความในใจตั้งแต่ก่อนเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.หลักคิดและหลักการในการทำงานระหว่างดำรงตำแหน่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยนายประสาน ระบุว่า สาเหตุที่มาสมัครทำงานตรงนี้ ต้องการทำอะไรที่มีความหมายต่อชีวิตมากขึ้น ซึ่งเป็นความตั้งใจมาตั้งแต่อดีต โดยเวลานั้นอายุ 58 ปีแล้ว จึงปรึกษากับครอบครัวว่าหากได้เป็นผู้ว่าการก็จะได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และอยากใช้เวลาทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ถ้าไม่ได้เป็นก็คงอยู่อย่างชีวิตสงบ

"5 ปีที่ผ่านมา เหมือนผมกลับสู่ “สมรภูมิรบ" อีกครั้ง รู้สึกท้าทาย แต่มีชีวิตชีวาและรู้สึกว่า ชีวิตมีความหมายขึ้น"นายประสาร กล่าว

นายประสาร ระบุอีกว่า อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้แสดงและปฏิบัติตามหลักการในการเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางที่ดีไว้หลายประการ ระหว่าง พ.ศ. 2502 ถึง 2514 ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.ซึ่งตนเองได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการทำงานอย่างได้ผลดี จึงได้เริ่มเขียน จม.ถึงอาจารย์ฉบับแรกตั้งแต่ในเดือน มี.ค.55 จนรวมได้ 19 ฉบับ เล่าเรื่องราวต่างๆ ของ ธปท. รวมทั้งเหตุการณ์บ้านเมือง ดังนั้นเมื่อใกล้จะครบวาระ ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่จะเหลียวหลังทบทวนว่า ที่ผ่านมาได้ทำอะไร มีอะไรบกพร่อง อะไรยังทำไม่สำเร็จ รวมทั้งแลหน้าถึงบทบาทของ ธปท. ในระยะต่อไป

5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราเผชิญกับความท้าทายและปัญหาที่รุมเร้าหลายด้าน ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและตลาดการเงินโลกที่ผันผวน ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ขาดการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยี การขาดแคลนแรงงาน รวมถึงปัญหาความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ซึ่งทำให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนอ่อนแรง

ภารกิจธนาคารกลาง รักษาเสถียรภาพควบคู่กับการพัฒนาภายใต้บริบทเศรษฐกิจที่ท้าทาย ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. ไม่เคยนิ่งนอนใจ พยายามทำหน้าที่ นายธนาคารกลางที่ดี แก้ปัญหาต่างๆ ของบ้านเมือง อย่างเต็มกำลังความรู้ความสามารถ อาจารย์เคยพูดถึง“ศาสตร์ของการเป็นผู้ว่าการ" ว่า “ศาสตร์ หรือ วิทยาการแห่งนโยบาย คือ เป้าหมายการดำเนินนโยบายในความรับผิดชอบของธนาคารกลางนั้น มี 2 เรื่อง (1) การส่งเสริมให้การดำเนินเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปได้โดยดี และ (2) การรักษาเสถียรภาพการเงินให้คู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ"ทั้ง 2 ส่วนนี้ คือ เป้าหมายการทำงานของ ธปท. และของตนองในช่วงที่ผ่านมา

กล่าวคือ ส่วนที่หนึ่ง ดูแลให้เศรษฐกิจดำเนินไปด้วยดี มีเสถียรภาพ ในภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญความไม่แน่นอน ภาคส่วนต่างๆ ขาดความเชื่อมั่น ภารกิจสำคัญอันดับแรกของ ธปท. คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ผู้บริโภค นักลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยดูแลตลาดการเงิน สถาบันการเงิน ระบบการชำระเงิน รวมทั้งการพิมพ์และการจัดการธนบัตร ให้ดำเนินไปได้ด้วยดี มีเสถียรภาพ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของเอกชน และการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน

ภายใต้กรอบ Flexible Inflation Targeting ที่ยืดหยุ่น การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมา มุ่งดูแลให้ภาวะการเงินของประเทศโดยรวมผ่อนปรน มีความคล่องตัวเพียงพอ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และช่วยประคับประคองให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น ครัวเรือนในระดับฐานราก ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ให้ปรับตัวได้ ควบคู่ไปกับการดำรงรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินให้ดี ไม่ให้มีปัญหาเรื่องความไม่สมดุล

นายประสาร กล่าวว่า เราโชคดีที่พื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคของประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่มั่นคง อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานต่ำ ในขณะที่ฐานะการเงินของภาคส่วนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์เข้มแข็ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง สถาบันการเงินที่เคยมีหนี้ NPLs กว่า 40% ปัจจุบันปรับลงเหลือประมาณ 2-3% ขณะที่บริษัทเอกชนในตลาดฯ มีสัดส่วนหนี้ต่อทุนปรับลดลงจากประมาณ 5 เท่าเหลือ 1-2 เท่า ภาครัฐมีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ส่วนภาคครัวเรือนที่แม้หนี้สูงขึ้น ในระยะหลังก็เริ่มชะลอลงบ้างแล้ว ภาพรวมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินจึงนับว่ามั่นคง ไม่มีความเปราะบางและปัญหาฟองสบู่

ปัจจัยเหล่านี้ ประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของภาครัฐที่น่าเชื่อถือ ช่วยรองรับความผันผวนและช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวได้ราบรื่นในระดับหนึ่ง รวมทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติ และบริษัท จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating agency) ยังให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย อาจารย์ครับ ผมบอกผู้ที่เกี่ยวข้องเสมอว่า ส่วนนี้เป็นจุดแข็งของประเทศที่ต้องรักษา ต้องไม่ประมาท เพราะไม่ได้มาฟรีๆ เหมือนสุขภาพที่ดี ก็มาจากการออกกำลังกาย และการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

ประเด็นที่มีความท้าทายอยู่บ้าง คือ อัตราแลกเปลี่ยน ช่วงที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ทว่าเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความเข้มแข็งต่างกัน (Multi speed recovery) และการดำเนินนโยบายก็ต่างกัน (Policy divergence) ทำให้ตลาดการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศผันผวนค่อนข้างมาก อาจารย์ครับ ปรัชญาที่ผมยึดมาโดยตลอดเมื่อพิจารณาเรื่องนี้ คือ “เข้าใจโลกตามความเป็นจริง" และ “คิดถึงอนาคตในระยะยาว" ทั้งนี้ ในการบริหารดูแล จัดให้มีปราการ 3 ด่าน (Multiple lines of defense) กล่าวคือ (1) มีกรอบการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่น (2) ดูแลภาวะด้านต่างประเทศให้สมดุล ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดและภาระหนี้ต่างประเทศ และ (3) จัดเตรียมเครื่องมือต่างๆ ให้พร้อมและเพียงพอ

ทั้งหมดนี้ เป็นปราการสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัว และใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงของตลาดการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศได้ดีในระดับหนึ่ง

ส่วนที่สอง การพัฒนาระบบการเงิน เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศ ธนาคารกลาง ไม่ได้มุ่งดูแลเสถียรภาพอย่างเดียว ยังมีบทบาทด้านการพัฒนาประเทศด้วย ดังที่อาจารย์พูดไว้ในหลายวาระว่า “ธนาคารชาติช่วยพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างไรบ้าง" งานอีกด้าน ที่ ธปท. ผลักดันอย่างต่อเนื่อง คือ การพัฒนาระบบการเงิน เพื่อเป็นการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับ 3 ส่วนที่ถือเป็น 3 เสาหลักสำคัญของระบบการเงินไทย

กล่าวคือ หนึ่ง การพัฒนาตลาดการเงิน ให้เป็นแหล่งระดมทุนโดยตรงที่มีประสิทธิภาพ เอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนเพื่อการลงทุนได้อย่างเพียงพอ ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ที่ผ่านมา ธปท. ได้ร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องพัฒนาตลาดให้มี ความกว้าง ความลึก และ ความคล่องตัว ให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมปริมาณมากๆ ได้ โดยไม่กระทบราคา รวมทั้งจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ เพียงพอ เช่น ระบบการชำระราคา การจัดตั้งสมาคมผู้ร่วมตลาด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่จะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีทิศทางที่สมดุล

สอง การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน อาจารย์ครับ อนาคตอันใกล้นี้จะมีการประกาศใช้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 (ปี 2558-2562) ซึ่ง ธปท. เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยกันให้ความคิดเห็นและออกแบบ แผนนี้จะช่วยให้สถาบันการเงินของไทยมี การแข่งขัน มากขึ้น ผู้ใช้บริการรายย่อยสามารถ เข้าถึง บริการมากขึ้น และเพิ่มความเชื่อมโยง กับภูมิภาคเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

และ สาม การพัฒนาระบบการชำระเงิน ซึ่งถือว่าเป็น Infrastructure ของระบบการเงิน ก็เป็นงานพัฒนาอีกด้านที่ ธปท. ให้ความสำคัญ ทั้งในมิติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนามาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งเสริมการใช้ E-payment ปัจจุบัน ธปท.อยู่ระหว่างผลักดันกฎหมายเพื่อกำกับดูแลระบบการชำระเงิน ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายครั้งสำคัญ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลและลดความซ้ำซ้อน ผมเชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยพัฒนาระบบการชำระเงินของบ้านเราให้ ถูก ดี และปลอดภัย

นายประสาร ระบุในเนื้อหาส่วนหนึ่งถึงเรื่องที่ยังไม่สะเด็ดน้ำว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง คิดเสมอว่าเวลาทำงานมีจำกัด และยังจำคำพูดของอดีตผู้ว่าการ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ได้ดี ท่านบอกว่าเข้ามาอยากทำหลายอย่าง พอออกจากตำแหน่งแล้ว ทำได้ไม่ถึง 10% ของที่ตั้งใจทำในวันแรก ตอนนั้นไม่เข้าใจ พอใกล้จะครบวาระก็เข้าใจคำพูดนี้ดีขึ้น 4 ปีก่อน

"มีคนถามผมว่า ครบวาระแล้วจะภูมิใจอะไรที่สุด ผมตอบว่าถ้าทำเรื่อง “ยื่นมือ" ได้สำเร็จก็จะภูมิใจ มาถึงวันนี้ แม้งานหลายส่วนคืบหน้า สะท้อนจาก Perception Survey ล่าสุดที่ stakeholders เห็นว่า เข้าถึง ธปท. ง่ายขึ้น การสื่อสารและทำงานกับคนอื่นของเราดีขึ้น แต่ผมเห็นว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ อาทิ เรื่องยื่นมือไปช่วยโจทย์ของบ้านเมืองด้านการพัฒนา การยื่นมือภายใน ธปท. ด้วยกันเอง และการช่วย SMEs และชาวบ้านที่มีศักยภาพให้เข้าถึงบริการทางการเงิน เหล่านี้เป็นเรื่องที่ยังไม่สะเด็ดน้ำเสียทีเดียว"นายประสาร ระบุ

อีกเรื่องที่คิดว่ายังมีข้อบกพร่อง คือ การประสานนโยบายกับรัฐบาลในบางช่วง มองย้อนกลับไปคิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ โดยคิดถึงที่อาจารย์เคยพูดเปรียบไว้ว่ารัฐบาลกับธนาคารกลางก็เหมือนสามีกับภรรยา หากมีปัญหาก็ควรปรับความเข้าใจกันในบ้าน การจะว่ากล่าวกันให้ชาวบ้านฟังนั้นไม่ใช่วิสัยที่ดี และถึงที่สุดแล้ว “ถ้าเราไม่สามารถที่จะเกลี้ยกล่อมท่านได้ หน้าที่ของผู้ว่าการ ธปท.ก็จะด้อยลงไป ความรับผิดชอบและประโยชน์ที่เราจะทำให้ก็จะเสียหายไปเช่นเดียวกัน

หลายครั้งมีคนถามถึงความเห็นเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ซึ่งชี้แจงว่าคำว่าอิสระเป็นคำที่ระมัดระวัง จริงๆ แล้วไม่ค่อยจะชอบใช้ เพราะต้องอาศัยความเข้าใจความหมาย และบ่อยครั้งคำนี้ทำให้รู้สึกว่าเราถูก เขาผิด ซึ่งในโลกแห่งความจริงไม่เป็นอย่างนั้น บางครั้ง เราถูก เขาผิด บางครั้ง เราผิด เขาถูก รากฐานที่จะนำมาสู่ความเป็นอิสระ ผมคิดว่าประกอบด้วย 2 ส่วน คือ “ทำในสิ่งที่ควรทำ และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ" โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่มักจะให้น้ำหนักเฉพาะส่วนหลัง ก็คือ “เราไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ" หมายความว่า ถ้าเราเห็นว่า เขาทำผิดเราต้องทัดทาน และ ไม่ยอมให้เขาบังคับให้เราทำในสิ่งที่ผิด ซึ่งจะว่าไปก็ใช่ แต่นี่เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของเรื่อง

อีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องไม่มี ego ไม่ดื้อ คือ หากสิ่งที่เราทำหรือเชื่อ ต่อมาเห็นว่า “อาจไม่ถูกต้อง" เราต้องไม่ดื้อ และเปลี่ยนมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง จึงเรียกว่า “ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ" คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ธปท. เป็นองค์กรหนึ่งของรัฐ ที่จะต้องช่วยกันดูแลให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ ธปท. จึงไม่สามารถเป็นอิสระจากรัฐบาลได้ทั้งหมด เช่น การดำเนินนโยบายการเงิน กฎหมายวางหลักไว้ค่อนข้างดีว่า ช่วงปลายปี กนง. ต้องเสนอเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงินผ่าน รมต.คลัง ไปยังรัฐบาล หมายความว่า รัฐบาลมีอำนาจว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ธปท. ไม่ได้เป็นอิสระจากรัฐบาลทั้ง 100%

เมื่อรัฐบาลอนุมัติเป้าหมาย ธปท. ก็รับเป้าหมายนั้นมาดำเนินการ ในระยะเวลาที่เหมาะสม ด้วยเครื่องมือที่เห็นว่าเหมาะสม ส่วนหลังนี้กฎหมายให้ ธปท. สามารถดำเนินงานได้อิสระ คือมี Operational Independence ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลที่ธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินงาน ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ข้อ กล่าวคือ (1) จำเป็นต้องแยกคนพิมพ์แบงก์ออกจากคนใช้เงิน (2) การกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อผลระยะสั้นอาจก่อผลเสียระยะยาว และ (3) บ่อยครั้งธนาคารกลางมักต้องทำเรื่องที่ไม่ popular

แต่อย่างไรก็ดี ข้อกฎหมาย อย่างเดียวไม่พอ ท้ายที่สุดต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากประชาชน กล่าวคือ การเมืองไม่กลัว ธปท. แต่เขากลัวประชาชน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ธปท.ต้องดำรงสถานะให้น่าเชื่อถือให้ประชาชนมีความไว้วางใจ ธปท.ต้องมีธรรมาภิบาลในการทำงาน ต้องโปร่งใส สื่อสารและเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ ซึ่งผมคิดว่า ค่านิยม 4 ข้อ ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน เป็นวิธีที่จะช่วยให้ประชาชนไว้ใจ ธปท. Public Office is a Public Trust ทั้งหมดนี้คือ หัวใจ5. แลไปข้างหน้า : อนาคตของ ธปท.

เมื่อไม่นานมานี้ มีนักข่าวถามผมว่าใกล้จะครบวาระแล้ว มีอะไรต้องรีบทำไหม ผมตอบว่า ไม่ เพราะ Staff ที่ ธปท.พร้อมรับช่วงงานต่อ ที่นี่เป็นสถาบัน แม้“คน" ไป แต่ “สถาบัน" ยังอยู่ กว่า 70 ปีแล้วที่ ธปท. มีส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายเพื่อเศรษฐกิจไทย ได้รับทั้งการชื่นชม และบางครั้งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผมเชื่อมั่นว่า ธปท. จะเรียนรู้จากอดีต เพื่อปรับปรุง พัฒนา และจะยังคงดำรงความเป็น “สถาบันคู่บ้านคู่เมือง" ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าต่อไป

“ความเป็นสถาบัน" ของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยอย่างน้อย 3 สิ่ง(1) กรอบนโยบายที่ยืดหยุ่น มีธรรมาภิบาล เครื่องมือที่เพียงพอ และ โปร่งใส ธปท. มีกฎหมายที่กำหนดบทบาทหน้าที่ วิธีทำงานระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน มีการถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสม (Checks and Balances) และในการทำหน้าที่ธนาคารกลาง มีกรอบการดำเนินนโยบายที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามสถานการณ์ได้ทันท่วงที มีชุดของเครื่องมือที่พร้อมและเพียงพอในการดูแลเศรษฐกิจ รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูล สื่อสารทำความเข้าใจกับสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง และโปร่งใส

(2) บุคลากร อยากเรียนให้ทราบด้วยความภูมิใจว่า พนักงานของ ธปท. ในปัจจุบัน รวมทั้งอดีตพนักงานที่ได้ออกไปช่วยพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปว่ามีความรู้ดีเยี่ยม มีความวิริยะอุตสาหะ และที่สำคัญเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ ธปท. เป็นสถาบันที่มีคนมีคุณภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นสถาบันที่เด็กจบใหม่ใฝ่ฝันจะเข้ามาร่วมงาน งานใดที่ผ่านมาในสมัยผมที่พอจะเห็นผลอยู่บ้าง ก็เป็นผลจากความอุตสาหะของท่านเหล่านี้ ที่ทำงานด้วยความทุ่มเทเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

(3) ประวัติศาสตร์แห่งความดีงาม อันเป็นมรดกของอดีตพนักงานและผู้บริหารที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยผู้ว่าการท่านแรก พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย มาจนสมัยของอาจารย์ และสืบทอดเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ไม่เพียงแค่ความเชื่อมั่นและความเมตตาของประชาชนที่มีต่อสถาบันนี้เท่านั้น แต่รวมถึงองค์ความรู้ของธนาคารกลาง ศิลปะในการบริหารงาน และอุดมคติของการทำงานที่อยู่ในจิตใจของพนักงานทุกคน ทั้งความเสียสละและความซื่อสัตย์สุจริต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ