พร้อมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 47 ระหว่างวันที่ 20 – 25 สิงหาคม 2558 เข้าร่วมรับรอง (endorse) ร่างแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างแผนงานดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
สำหรับร่างแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 เป็นเอกสารที่กำหนดทิศทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะ 10 ปีข้างหน้า (2016 - 2025) โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวทางการรับมือต่อประเด็นความท้าทายใหม่ ๆ ที่อาเซียนอาจต้องเผชิญในอนาคตอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใน 5 ด้าน ได้แก่
1. เศรษฐกิจที่มีการรวมตัวและเชื่อมโยงในระดับสูง ระดับสูง (A Highly Integrated and Cohesive Economy)ประกอบด้วยการเปิดเสรีสินค้า โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้า ยกเลิก/ลดมาตรการที่มิใช่ภาษี ปรับปรุงกระบวนการพิธีการศุลกากร ปรับประสานมาตรฐานให้สอดคล้องกัน การเปิดเสรีการค้าบริการและส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านการลงทุน การเปิดเสรีบริการด้านการเงินและการรวมตัวและพัฒนาตลาดทุนและการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือและนักธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียนในห่วงโซ่มูลค่าโลก
2. มีความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม และมีพลวัต (Competitive, Innovative and Dynamic ASEAN) มุ่งเน้นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน นวัตกรรมและความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลง อาทิ นโยบายการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค ทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยี ความร่วมมือด้านภาษี (taxation issues) การยึดหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมให้มีกฎระเบียบ และหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องและสามารถพร้อมตอบสนองได้มากขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (global mega trends) และประเด็นการค้าใหม่ ๆ
3. ส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและการรวมตัวรายสาขา (Enhancing Economic Connectivity and Sectoral Integration) มุ่งเน้นการส่งเสริมและบูรณาการด้านการขนส่งในภูมิภาค เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงด้านพลังงาน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการรวมตัวรายสาขาที่ลึกซึ้งมากขึ้น ได้แก่ อาหาร เกษตรและป่าไม้ การท่องเที่ยว สุขภาพ เหมืองแร่ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
4. ความสามารถในการปรับตัว ครอบคลุมทุกภาคส่วนและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Resilient, Inclusive and People-Oriented, People-Centered ASEAN) มุ่งสร้างความเข้มแข็งแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) การเพิ่มบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private partnership) การลดช่องว่างด้านการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็น/ข้อริเริ่มด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ
5. การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก (a Global ASEAN) อาทิ การทบทวน/ปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่เจรจาที่มิได้มีความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) และการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรทั้งในระดับภูมิภาคและโลก สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในเชิงรุกในเวทีระดับภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับสถาบันต่าง ๆ ทั้งในระดับโลกและภูมิภาค