กนง.ระบุนโยบายการเงินระยะต่อไปควรผ่อนปรนเพียงพอ-ต่อเนื่องเพื่อหนุนศก.ฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 19, 2015 09:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เมื่อวันที่ 5 ส.ค.58 โดยระบุว่าคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยเห็นว่าภาวะการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในระดับผ่อนคลาย สะท้อนจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งอยู่ในทิศทางที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านตลาดการเงินที่ปรับลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา แม้ว่าการตอบสนองของอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ต่อการผ่อนคลายนโยบายอาจน้อยและช้าในภาวะปัจจุบัน

นอกจากนี้ กรรมการบางส่วนเห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจส่งผลต่อเสถียรภาพตลาดการเงินในระยะสั้นภายใต้ภาวะตลาดการเงินโลกที่ปัจจุบันมีความผันผวนสูงขึ้น และยังคงต้องติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินจากพฤติกรรมแสวงหาผลกำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงและแนวโน้มการออมของภาคครัวเรือนในระยะยาว

ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จึงจะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน

ทั้งนี้ กนง.ระบุว่า หลังการประชุมครั้งก่อนค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. และดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนลงตามการคาดการณ์ของตลาดว่า FOMC จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้น จึงลดการถือครองพันธบัตรและหลักทรัพย์ไทยลงบ้าง ในขณะเดียวกัน ความผันผวนของเงินบาทปรับสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะตลาดการเงินโลกมีความผันผวนเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ช่วงเวลาที่ FOMC จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลกรีซในช่วงก่อนที่ผลการเจรจาเพื่อก หนดมาตรการช่วยเหลือจะมีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าลงค่อนข้างเร็วในบางช่วงจากปัจจัยในประเทศ

อย่างไรก็ดี ความผันผวนของค่าเงินบาทอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาค สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงทุกระยะ โดยเฉพาะระยะกลางถึงยาวที่ได้รับอิทธิพลจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่โน้มลดลงในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/58 ฟื้นตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แต่ในระยะข้างหน้าปัจจัยด้านลบมีมากขึ้น ทำให้ในภาพรวมประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งปี 58 ปรับลดลงเล็กน้อยจากการประชุมครั้งก่อน แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจยังคงมาจากภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาขยายตัวดีกว่าคาด และการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถชดเชยแรงส่งของการใช้จ่ายในประเทศและการส่งออกสินค้าที่อ่อนแรงลงได้ทั้งหมดภายใต้ปัจจัยลบที่มากขึ้น 2 ประการ ได้แก่ (1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชียซึ่งทำให้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น แม้การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอาจมีผลช่วยพยุงการส่งออกสินค้าได้บ้าง (2) สถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลลบเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนผ่านรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นที่ปรับลดลง ในภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง ธุรกิจส่วนใหญ่จึงชะลอการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตออกไป

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องตามราคาพลังงานเป็นหลัก แต่ได้ผ่านจุดต่ำสุดและจะค่อยๆ ปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากผลของฐานราคาน้ำมันสูงที่จะทยอยหมดไป อย่างไรก็ดีแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ลดลงและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นช้ากว่าประมาณการเดิมอาจทำให้ช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเป็นบวกเลื่อนออกไปจากที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนเล็กน้อย

ท่ามกลางแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปและความเสี่ยงที่ปรับสูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นของการติดตามและประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลง ซึ่งคาดว่ามาจาก (1) การปรับลดชั่วโมงการทำงานนอกภาคเกษตรตามภาวะเศรษฐกิจ และ (2) ปัญหารายได้เกษตรตกต่ำและภัยแล้งทำให้แรงงานบางส่วนโยกย้ายออกจากภาคเกษตรไปทำงานชั่วคราวในภาคการผลิตและภาคบริการ โดยมีชั่วโมงการทำงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทั้งนี้ จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ต่ำลงโดยเฉลี่ยอาจส่งผลลบต่อระดับรายได้การบริโภค รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน จึงเป็นประเด็นที่ กนง. ติดตามควบคู่กับการติดตามสัญญาณความเปราะบางของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า สะท้อนจากการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจกลุ่มดังกล่าว

ส่วนเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อนจากเศรษฐกิจจีนและเอเชียเป็นสำคัญ และในระยะข้างหน้าความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้นสามารถส่งผลถึงเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออก โดยเศรษฐกิจจีนชะลอลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากราคาหลักทรัพย์ที่ปรับลดลงค่อนข้างเร็วและรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนั้น ต้องติดตามความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีอุปทานส่วนเกินในระดับสูง

ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาสินค้านำเข้าน้อยลงเป็นลำดับ ทำให้การส่งออกสินค้าของเศรษฐกิจเอเชียอื่นๆ (ไม่รวมญี่ปุ่น) ชะลอลงต่อเนื่องและส่งผลกระทบเพิ่มเติมไปยังการใช้จ่ายภายในประเทศที่ค่อนข้างอ่อนแออยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนายังมีทิศทางปรับดีขึ้นตามคาด โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณการฟื้นตัวที่เข้มแข็งขึ้นโดยเฉพาะในตลาดแรงงาน ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) อาจตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในสิ้นปีนี้ ด้านเศรษฐกิจกลุ่มยูโรทยอยฟื้นตัว โดยความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลกรีซปรับลดลงในระยะสั้นและไม่ได้มีนัยส คัญต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แต่ยังต้องติดตามความคืบหน้าของการปฏิรูปเศรษฐกิจและการคลังของกรีซซึ่งมีข้อจำกัดจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอมาก รวมถึงนัยต่อเศรษฐกิจกลุ่มยูโรในระยะยาว สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวต่อเนื่องโดยได้รับแรงสนับสนุนจากผลการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ