SCB EIC ชี้ตลาดรถยนต์ในปท.ใกล้อิ่มตัว แนะผู้ผลิตชิ้นส่วนเพิ่มช่องทางส่งออก-ยกระดับเทคโนโลยี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 19, 2015 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) แนะผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ปรับกลยุทธ์ พร้อมวางแผนขยายกิจการให้เกิดความยั่งยืนเพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเวทีโลก หลังภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยยังไม่ฟื้นตัวแม้ได้รับอานิสงส์จากตลาดส่งออกและทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ผูกติดกับการตัดสินใจเลือกฐานการผลิตของค่ายรถยนต์เป็นหลัก

โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยควรมุ่งเน้นการทำตลาดในประเทศเป้าหมายคือ จีน เวียดนาม เม็กซิโก โปแลนด์ เช็ก โคลัมเบีย อิสราเอล อียิปต์ บาห์เรน คูเวต สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสเปน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ตลาดรถยนต์กำลังขยายตัวและมีขนาดตลาดที่ใหญ่เหมาะสมกับการทำตลาด เนื่องจากมีความต้องการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยควรมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีสินค้าเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับคู่ค้าในปัจจุบันของกลุ่มประเทศดังกล่าวที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศผู้นำในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยยังไม่ฟื้นตัวแม้จะได้รับอานิสงส์จากตลาดส่งออก เนื่องจากตลาดรถยนต์ในประเทศยังซบเซาจากการปรับสมดุลจากรถคันแรกและสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว โดย EIC คาดว่ายอดผลิตรถยนต์ปี 2558 จะอยู่ที่ 1.95 ล้านคัน แบ่งเป็น ตลาดในประเทศ 750,000 คัน และส่งออก 1.2 ล้านคัน โดยตลาดรถยนต์ในประเทศมีแนวโน้มซบเซาไปจนถึงช่วงปี 2559 เนื่องจากปัจจัยลบในประเทศที่ค่อนข้างยืดเยื้อ ทั้งในแง่ของระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำซึ่งเป็นการกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค

SCB EIC มองทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์จะถูกกำหนดโดยปัจจัยการตั้งฐานการผลิตของค่ายรถยนต์ แต่ยังคงมีความท้าทายเนื่องจากตลาดในประเทศมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก การเลือกตั้งฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และยังคงมีความท้าทายจากประเทศฐานการผลิตคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย และตุรกี ที่กำลังผลักดันตัวเองให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ตามโมเดลของประเทศไทย เนื่องจากศักยภาพตลาดรถยนต์ในประเทศมีขนาดไม่ใหญ่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง จีน บราซิล อินเดีย และอินโดนีเซีย

"ในอนาคตอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยจะพึ่งพาการส่งออกมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากตลาดรถยนต์ในประเทศได้เข้าสู่ระดับครึ่งทางของจุดอิ่มตัว ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะขยายตัวด้วยอัตราการขยายตัวที่ก้าวกระโดดที่ 15-25% ต่อปีเหมือนในอดีต" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

โดยดัชนีที่สามารถบ่งบอกถึงจุดอิ่มตัวของตลาดรถยนต์คือ อัตราการครองรถ(Vehicle Ownership Ratio) สิ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วหลังจากได้ก้าวผ่านอัตราการครองรถที่ 450 คันต่อประชากร 1,000 คน อัตราการขยายตัวของตลาดรถยนต์จะขยายได้เพียง 1-3% ต่อปีเท่านั้น ขณะที่อัตราการครองรถของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 240 คันต่อประชากร 1,000 คน

ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยต้องให้ความสำคัญกับการมองหาคู่ค้าใหม่ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการขยายตัวของอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เนื่องจากคู่ค้าโดยเฉพาะรายที่มีความต้องการรถยนต์ในประเทศสูงจะมีการพัฒนาความพร้อมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออุตสาหกรรมรถยนต์ของอินโดนีเซียที่พึ่งพาชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้าจากไทยน้อยลง เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ในอินโดนีเซียสามารถพึ่งพาชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศได้มากขึ้น โดยอินโดนีเซียใช้เวลาประมาณ 15 ปี ในการสร้างความพร้อมภายในอุตสาหกรรมรถยนต์ จากสัดส่วนการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากไทยที่ 3,350 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อการผลิตรถยนต์หนึ่งคันในปี 2000 โดยตัวเลขดังกล่าวลดลงกว่า 1 ใน 3 เหลือเพียงราว 2,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014 และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยรายย่อยควรให้ความสำคัญกับ R&D มากขึ้น การยกระดับเทคโนโลยีการผลิตจะสร้างความแข็งแกร่งแก่ธุรกิจในระยะยาวเนื่องจากในอนาคตมูลค่าเพิ่มของรถยนต์จะกระจุกตัวอยู่ที่ชิ้นส่วนและระบบในรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีในระดับสูง เช่น ระบบควบคุมเครื่องยนต์ ระบบควบคุมการขับเคลื่อน ระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในรถยนต์ และ ระบบความปลอดภัยในรถยนต์ โดยเมื่อมองในภาพรวมพบว่าประเทศไทยยังมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เพียง 0.2% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำโดยญี่ปุ่นสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 3% ของ GDP จากการวิเคราะห์ของอีไอซีพบว่าเบื้องหลังของปัญหาคือการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยังน้อยเกินไปที่มีจำนวนคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดในประเทศ โดยในปี 2012 ภาคเอกชนไทยมีสัดส่วนเพียง 59% ของค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนของญี่ปุ่นและจีนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 74% และ 77% ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ