"ประเด็นที่ต้องติดตามคือรายได้ของแรงงาน และการเฝ้าระวังการเลิกจ้างแรงงานจากผลกระทบส่งออกที่ยังมีแนวโน้มลดลงและการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน" นายอาคม กล่าว
ขณะที่หนี้สินครัวเรือนยังต้องเฝ้าระวังอย่างมาก เนื่องจากมีการชะลอตัวต่อเนื่อง แต่ต้องเฝ้าระวังการผิดนัดชำระหนี้ โดยในไตรมาสแรกเท่ากับ 10.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% หรือคิดเป็น 79.9% ต่อจีดีพี ขณะที่ไตรมาส 2 มียอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 7% ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการผิดนัดชำระหนี้ เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 15.5% และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 28.8% โดยสัดส่วนหนี้เสียต่อยอดคงค้างสินเชื่อเหล่านี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยมีมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ทั้งการดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ การแก้ปัญหาหนี้สินครู
ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยค่าใช้จ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไตรมาสที่ 2 ปี2558 มีมูลค่ารวม 33,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 3.3% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า25,212 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% โดยยังต้องเฝ้าระวังอย่างมากเรื่องการขายแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษา
ภาวะความเจ็บป่วยในไตรมาส 2 นี้ ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เพิ่มจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 8.2% ซึ่งต้องเฝ้าระวังเพราะมักมีการะบาดในช่วงฤดูฝน รวมทั้งต้องเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายเนื่องจากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นายอาคม กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องผลักดันการทำงานของผู้สูงอายุ โดยสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยเพิ่มจาก 6.8% ในปีก่อน เป็น 14.9% ในปี 2557 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 32.1% ในปี2583 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะพึ่งพิงที่เพิ่มสูงขึ้น และบางส่วนขาดความมั่นคงด้านรายได้
ทั้งนี้ สศช.ยังให้ความสำคัญของการทำงานผู้สูงอายุ โดยจากบทความพิเศษเรื่อง "การทำงานของผู้สูงอายุ:ความจำเป็นที่ต้องผลักดัน" สศช.เห็นว่าจะเป็นการลดผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยทั้งการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ การขาดแคลนแรงงาน และเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ธุรกิจบางส่วนเริ่มตระหนักถึงผลกระทบและการเตรียมการจ้าง
ขณะที่ลูกจ้างยังมีทัศนคติเชิงลบและขาดความรู้ถึงผลกระทบจากการขยายอายุการทำงานทำให้มีความต้องการทำงานไม่เกินอายุ 60 ปี ขาดกลไกขับเคลื่อน การส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุจึงควรมีความยืดหยุ่น ยึดหลักความสมัครใจ มีมาตรการจูงใจและลดอุปสรรคต่อการจ้าง รวมทั้งสนับสนุนด้านกฎระเบียบ กลไกจัดการ ตลอดจนมีนโยบายบำเหน็จบำนาญและการออมที่ส่งเสริมการทำงานของผู้สูงวัย
สศช. พบว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคน (6.8% ของประชากร) ในปี 2537 เพิ่มเป็น 10 ล้านคน(14.9%) ในปี 2557 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 20.5 ล้านคน(32.1%) ในปี 2583 ซึ่งจะส่งผลกระทบที่สำคัญคือ ภาวะพึ่งพิงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีอัตราพึ่งพิงเพิ่มจาก 19.7% ในปี 2553 เพิ่มเป็น 58.3% หรือในอีกด้านหนึ่งมีอัตราการเกื้อหนุนลดลงคือ มีวัยแรงงานดูแลลดลงจาก 5.8 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน เหลือเพียง 1.7 คน ในปี 2583 ทำให้วัยแรงงานไม่สามารถเกื้อหนุนได้เพียงพอ
นอกจากนี้ยังพบถึงความมั่นคงด้านรายได้ของผู้สูงอายุ อายุคาดเฉลี่ยประชากรที่มีแนวโน้มจะสูงกว่า 80 ปี ทำให้มีเวลาหลังชีวิตการทำงานที่ยาวนานขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องบริหารเงินออมให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นหากไม่มีเงินบำนาญรายเดือน ขณะที่รายได้จากบุตรที่เคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญมีแนวโน้มลดลงจาก 52.3% ในปี 2550 เหลือ 35.7% ในปี 2557 ทำให้การพึ่งพิงบุตรหลานไม่มั่นคงเพียงพอ แม้ว่ารัฐจะมีนโยบายสนับสนุนให้แรงงานมีหลักประกันชราภาพเพิ่มขึ้น แต่รายได้ดังกล่าวยังไม่เพียงพอ
"ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุกว่า 20% มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้ที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ เพื่อลดภาระและเพิ่มคุณค่าให้กับผู้สูงอายุด้วย โดยการจ้างงานต้องให้ความสำคัญกับความรู้และประสบการณ์ของผุ้สูงอายุที่จะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ยังมีการจ้างงานผู้สูงอายุในจำนวนที่น้อยอยู่" นายอาคม กล่าว
ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริการทางสุขภาพ เงินอุดหนุนชราภาพ และเงินบำเหน็จบำนาญต่างๆ ผลการประมาณการงบประมาณรายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย(2555) คาดว่ารายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึง 4.64 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 โดยอัตราการเพิ่มของรายจ่ายจะสูงกว่ารายได้ ซึ่งหมายถึงรัฐต้องกันเงินงบประมาณในสัดส่วนที่มากขึ้นเพื่อมาเป็นรายจ่ายเพื่อผู้สูงอายุในการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานให้กับผู้สูงอายุการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุนอกจากจะช่วยลดผลกระทบข้างต้นแล้ว การทำงานที่เหมาะสมยังส่งผลให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่า การมีกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและมีสุขภาพดีขึ้น ประเทศต่างๆ ที่เข้าสู่สังคมสูงวัยทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยจึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้แรงงานมีการทำงานนานขึ้นรวมทั้งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานมากขึ้นภาพรวมการทำงานของผู้สูงอายุปัจจุบันผู้สูงอายุมีแนวโน้มทำงานเพิ่มขึ้น