ศูนย์วิจัยกสิกรฯ บาทอ่อนยังไม่ช่วยฟื้นส่งออก แนะจับตาผลกระทบจากตลาดผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 24, 2015 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า สถานการณ์ความปั่นป่วนของสกุลเงินเอเชียในรอบนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่หลายตัวแปรเสี่ยง (ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง และเครื่องชี้เสถียรภาพต่างประเทศ) อยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่ และส่งผลกดดันพร้อมๆ กับความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินโลก จากสัญญาณที่น่าวิตกของตลาดหุ้น-เศรษฐกิจจีน ซึ่งมีผลกดดันต่อเนื่องให้ราคาน้ำมัน/โภคภัณฑ์ในตลาดโลกทรงตัวในระดับต่ำ และเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับจังหวะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ดังนั้น แม้สถานการณ์ค่าเงินบาทของไทย จะยังไม่ได้อยู่ในจุดที่เปราะบางดังเช่นสกุลเงินอื่นๆ (เงินริงกิตมาเลเซีย และเงินรูเปียห์อินโดนีเซีย) แต่คงต้องยอมรับว่า พัฒนาการของตลาดการเงินที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว และอาจมีผลกระทบต่อเนื่องต่อบรรยากาศทั่วทั้งภูมิภาค ก็คงกลายเป็นอีกโจทย์หนึ่ง (นอกเหนือไปจากภารกิจในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย) ที่ทางการไทยจะต้องให้ความสำคัญและจับตาอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

นอกจากนี้ จากการที่ทิศทางของค่าเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ต่างก็โน้มไปในด้านอ่อนค่าสอดคล้องกัน ก็อาจทำให้อานิสงส์ในด้านบวกต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทยยังไม่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนมากนักในระยะนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตลอดช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียต่างเผชิญแรงเทขายอย่างหนัก ท่ามกลางความเสี่ยงจากหลายปัจจัยที่ถูกจุดชนวนขึ้นในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ทั้งในเรื่องความกังวลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีน การดิ่งลงของราคาน้ำมัน ความเปราะบางของแนวโน้มเศรษฐกิจและเครื่องชี้เสถียรภาพต่างประเทศของบางประเทศในเอเชีย รวมถึงการทยอยปรับเปลี่ยนเครื่องมือ/วิธีการดูแลการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ นำโดย เงินริงกิตมาเลเซีย เงินรูเปียห์อินโดนีเซียที่ร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 17 ปี (ย้อนกลับไปถึงในช่วงวิกฤตการเงินเอเชียปี ค.ศ. 1997/1998) ขณะที่ เงินบาทและเงินดอลลาร์ไต้หวันอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 ปี เงินดอลลาร์สิงคโปร์และเงินเปโซฟิลิปปินส์อ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี เงินหยวนและเงินวอนอ่อนค่าสุดในรอบ 4 ปี และเงินด่องของเวียดนาม อ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์

ค่าเงินริงกิต และเงินรูเปียห์ (อ่อนค่าลง 17.4% และ 11.8% นับจากต้นปี 2558 ตามลำดับ) เผชิญแรงกดดันมากกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากภาคการส่งออกของทั้ง 2 ประเทศ (หดตัวลงแล้วในปีนี้ ประมาณ 13% YoY, YTD) ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการดิ่งลงของราคาน้ำมัน/สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นเวลานานต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ขณะที่ ทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญก็ยังคงอ่อนแอ นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเทศยังมีประเด็นทางการเมืองที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนถดถอยลง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นตัวแปรที่ทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะเงินทุนไหลออกเพิ่มมากขึ้น

และเมื่อภาพด้านลบดังกล่าวแย่ลงเป็นวังวนต่อเนื่อง ธนาคารกลางของทั้ง 2 ประเทศจึงจำเป็นต้องใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศเข้ามาดูแลการเคลื่อนไหวของตลาด เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินริงกิตและรูเปียห์ โดยทุนสำรองฯ ของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ลดต่ำลงประมาณ 18.5% และ 3.9% เมื่อเทียบกับระดับ ณ สิ้นปี 2557 ตามลำดับ และหากเทียบระดับทุนสำรองฯ สุทธิในปัจจุบัน (ทุนสำรองฯ หักภาระผูกพันระยะสั้น ซึ่งประกอบด้วยหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และมูลค่าการนำเข้าประมาณ 3 เดือน) จะเห็นว่า มาเลเซียตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่วิกฤตกว่ามาก เพราะทุนสำรองฯ สุทธิของมาเลเซียลดต่ำลงกว่าภาระผูกพันระยะสั้นค่อนข้างมาก (ถึงประมาณ 5.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ)

ปัญหาของค่าเงินริงกิตมาเลเซีย ณ ขณะนี้ นับได้ว่า อยู่ในจุดที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะทางการมาเลเซียอาจมีทางเลือกไม่มากนักในการใช้ดูแลสถานการณ์ เพราะแม้ทางการมาเลเซียอาจใช้วิธีการขายสินทรัพย์ต่างประเทศของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ มาช่วยเพิ่มระดับทุนสำรองฯ แต่ก็อาจช่วยประคองค่าเงินริงกิตได้เพียงระยะเวลาหนึ่ง เพราะวังวนของหลายๆ ปัญหายังไม่ไปถึงจุดสิ้นสุด โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจมาเลเซียที่ยังน่าจะได้รับแรงกดดันจากปัญหาการเมือง ภาวะราคาน้ำมัน/สินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรงตัวในระดับต่ำ และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีน ซึ่งส่งผลทางตรงผ่านภาคการส่งออก และมีผลทางอ้อมผ่านความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน ดังนั้น คงต้องยอมรับว่า มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย และ/หรือการขอรับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ (อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ก็อาจเป็นเครื่องมือทางเลือกที่ทางการมาเลเซียจำเป็นต้องพิจารณา หากความเสี่ยงในด้านต่างๆ ทวีแรงกดดันมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ